Proposal
Proposal หรือเอกสารข้อเสนอขอทำโครงงาน
หรือวิทยานิพนธ์ มีความสำคัญมาก เพราะหากผ่านการพิจารณาแล้ว ก็เป็นเสมือนข้อผูกพันที่นักศึกษาจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด
มหาวิทยาลัยบางแห่งจะนำข้อเสนอ ขอทำวิทยานิพนธ์นี้มาส่งให้คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา
ให้ความเห็น แล้วอาจจะแก้ไขบางประเด็นก่อนบันทึกจัดเก็บ และใช้ตรวจสอบว่านักศึกษาทำตามหรือไม่
ถ้าไม่ทำตามก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัย และสถาบันบางแห่งไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นคอขาดบาดตาย
เพราะระหว่างการทำวิทยานิพนธ์นั้น อาจมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงการทำวิทยานิพนธ์ไป
และมหาวิทยาลัยจะให้สิทธิ์แก่อาจารย์ที่ปรึกษาที่จะแก้ไขรายละเอียดได้ตามความเหมาะสม
รายละเอียดของกฎเกณฑ์นี้นักศึกษาควรหามาอ่านทำความข้าใจไว้บ้าง
รายละเอียดที่นักศึกษาแต่ละสถาบันหรือมหาวิทยาลัยจะต้องจัดทำใน
Proposal ก็ยังมีความแตกต่างกันมากบางแห่งให้เขียนคร่าวๆกว้างๆ
แต่บางแห่งก็ให้เขียนรายละเอียดค่อนข้องมาก ในที่นี้ขอตั้งข้อสมมุติว่า Proposal
มีไว้เพื่อให้กรรมการพิจารณาได้ว่าหัวข้อเรื่องนั้นเหมาะสมหรือไม่ นักศึกษาเข้าใจหัวข้อเรื่องและแนวทางที่จะทำดีหรือไม่
ได้ศึกษาผลงานของผู้อื่นไว้จนเข้าใจแนวทางแล้วหรือไม่ นักศึกษามีความสามารถที่จะทำเรื่องนี้หรือไม่
ดังนั้นคำแนะนำในที่นี้จึงยึดประเด็นเหล่านี้เป็นหลัก
เนื้อหาหรือรายละเอียดที่ควรปรากฏใน Proposal ควรเขียนเรียงลำดับตามหัวข้อต่อไปนี้
บทที่1 เน้นความเป็นมาของปัญหา
และข้อเสนอ บทนี้ควรกำหนดหัวข้อย่อยดังต่อไปนี้
- ความเป็นมาของปัญหา ให้อธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาของปัญหา
และแนวคิดที่ทำให้จำเป็นต้องแก้ปัญหานั้น
- วัตถุประสงค์ ให้ระบุวัตถุประสงค์ว่างานโครงงานหรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานั้นต้องการจะให้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมและเข้าใจได้ชัดเจนบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือระบบสารสนเทศ ให้ระบุเป็นข้อหนึ่งว่าจะพัฒนาหรือสร้างระบบที่ต้องการ
และจะพิสูจน์ว่าซอฟต์แวร์หรือระบบนั้นสามารถแก้ปัญหาที่กำหนดได้ ไม่ควรเขียนวัตถุประสงค์ที่ไม่มีทางวัดหรือทำได้
เช่น จะทำให้หน่วยงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายลง ทั้งนี้เพราะนักศึกษาทำงานนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดเพื่อให้ได้ปริญญา
ผลงานที่ทำขึ้นมานั้นก็ยังไม่แน่ว่าหน่วยงานจะพอใจ และเอาไปใช้จริงหรือไม่
หากเขียนเช่นนั้นแต่หน่วยงานไม่ใช้ ก็เท่ากับนักศึกษาไม่สามารถทำให้ผลงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ดังนั้นควรคิดด้วยว่าเมื่อเขียนวัตถุประสงค์ไปแล้ว เราจะทำได้จริงหรือไม่
- ขอบเขตของงาน งานที่ต้องการทำนั้นอาจมีขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับตัวแปร
หรือฟังก์ชันต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งรวมแล้วอาจสุดวิสัยที่นักศึกษาจะนำมารวมไว้ในการศึกษาครั้งนี้
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของงานให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรมากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่นนักศึกษาขอพัฒนาระบบทรัพยากรบุคคล แต่จะทำเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
และการสืบทอดตำแห่ง ก็ให้เขียนให้ชัดเจน
- ผลที่จะได้รับ หรือประโยชน์ของงาน
ให้อธิบายว่างานที่กำลังเสนอขอทำนี้ หากสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรต่อนักศึกษา
, สถาบัน และสังคมในภาพรวมบ้าง
- ระเบียบวิธีวิจัย(Methodology)
ให้ระบุว่า การทำงานนี้ นักศึกษาจะใช้วิธีการดำเนินงานอย่างไร ถ้าเป็นการวิจัยจะใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบใด
ถ้าเป็นการพัฒนาระบบจะใช้วัฏจักรพัฒนาระบบงานอย่างไร
- ทรัพยากรที่ต้องการ ให้ระบุว่านักศึกษาต้องการใช้ทรัพยากร
หรือเครื่องมืออะไรบ้าง โดยเฉพาะคือ ซอฟต์แวร์ ภาษา และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องหามาใช้เป็นพิเศษ
บางครั้งอาจต้องเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายด้วย
- กำหนดเวลา ให้นักศึกษาพิจารณาย่อยกิจกรรมที่จะต้องทำตามระเบียบวิธีวิจัย
หรือวัฎจักรพัฒนาระบบงาน แล้วคาดคะเนระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำ กิจกรรมนั้นๆ
เสร็จแล้วให้จัดทำกำหนดเวลาเป็นแผนภูมิ Gantt Chart
บทที่2 สำรวจวรรณกรรม
บทนี้ให้นำรายละเอียดของบทความวิชาการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อที่เสนอมาเขียนอธิบายย่อๆ
ประเด็นหลักของการสำรวจวรรณกรรมก็คือการค้นคว้าหาว่า ปัญหาที่นำเสนอนั้นมีผู้เสนอแนะแนวทางแก้ไขมาเป็นลำดับขึ้นอย่างไร
และแต่ละรายได้แก้ปัญหาไปถึงไหนแล้ว ในการเขียนนี้นักศึกษาควรเน้นที่งานวิจัย
หรือบทความวิชาการใหม่ๆที่แสดงความคลี่คลายของปัญหา จนมาถึงช่วงเวลาที่กำลังเสนอข้อเสนอนี้
บทนี้ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์ ดังนั้นไม่ต้องไปเริ่มที่ มอชลีย์ สร้างเครื่อง
ENIAC แบคคัส และคณะสร้างภาษา FORTRAN จนกระทั่งมาถึงการคิดหลักการ Object
Oriented Methodology ให้เริ่มที่ตัวเนื้องานที่จะทำ แล้วค้นหาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องย้อนกลับไป3-4
ระดับ ในที่นี้ได้นำตัวอย่างการสำรวจวรรณกรรมของ
งานวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจมาให้ศึกษาด้วย
บทที่3 เค้าโครงข้อเสนอ
บทนี้มีเนื้อหาได้ต่างๆนานาสุดแท้แต่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันจะกำหนด
ขอให้นักศึกษาตรวจสอบในคู่มือของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันจะกำหนดเอง ในที่นี้ขอเสนอให้เขียนในทำนองเค้าโครงของข้อเสนอว่านักศึกษาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เพื่อให้กรรมการทราบความคิดและขั้นตอนของงานที่จะทำอย่างชัดเจนมากขึ้น หัวข้อย่อยที่ควรเขียนหากต้องการทำตามแนวคิดที่เสนอในที่นี้ก็คือ
- ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง อธิบายทฤษฎี
หรือแนวคิดที่นำสู่การทำวิจัยตามหัวข้อนี้ รายละเอียดส่วนนี้จะจำเป็นมาก
และต้องเขียนต่อเมื่อเป็นงานวิจัยที่สืบทอด และจะขยายความคิดของงานในอดีต
ยกตัวอย่างเช่นในวงการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ บารรีเบม ได้พัฒนาสูตรสำหรับใช้คาดคะเนกำลังคน
และเวลาสำหรับเขียนโปรแกรมขึ้นแล้ว หากเราต้องการปรับปรุงสูตรนี้ต่อไป เราก็จะต้องอธิบายสูตรนี้ก่อน
- กรอบของงาน อธิบายแนวคิดในการทำวิจัย
หรือระเบียบวิธีวิจัย และขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างละเอียด แบ่งให้เห็นลำดับของงานอย่างชัดเจน
พร้อมกันนั้นก็ให้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องใช้ด้วย โดยเวลาที่คาดคะเนนี้จะต้องตรงกับกำหนดเวลาที่นำไปเขียนเป็น
Gantt Chart ในบทที่ 1
- บรรณานุกรม (References) ให้นักศึกษารวบรวมเอกสารวิชาการและเอกสารอื่นๆ
ที่ใช้ในการทำ Proposal มาเรียบเรียงไว้ตามลำดับอักษรโดยเฉพาะแยกส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ
และภาษาไทยออกจากกัน นักศึกษาต้องตรวจสอบว่าเอกสารอ้างอิงที่ระบุนี้มีการกล่าวถึงใน
Proposal ด้วย ไม่ใช่รวบรวมรายชื่อมาเขียนไว้เล่นๆ วิธีการอ้างอิงขอให้ตรวจสอบกับคู่มือของสถาบัน
เอกสารข้อเสนอที่จัดทำขึ้นนี้ จะต้องพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย และตรวจสอบความถูกต้องรวมทั้งสะกดการันต์
เพื่อแสดงให้กรรมการสอบเห็นว่านักศึกษามีความละเอียดรอบคอบ ทำงานเรียบร้อย
น่าเชื่อถือว่าจะสามารถทำงานนี้ได้
|