Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

พจนานุกรมวิสามานยนามไทย:วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม
กนกวลี ชูชัยยะ
พระอาจารย์คันธสาราภิวงศ์ แปล
ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่
2544
ราคา 140 บาท

           เมื่อสามสิบสี่ปีมาแล้ว ระหว่างทำงานไปด้วยรออาจารย์ที่ปรึกษาเรียกไปสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาโทไปด้วย ผมเห็นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ ผมเห็นว่ามีเวลาว่างพอจะไปเรียนได้ก็เลยไปสมัครเรียนแล้วก็ได้รับเลือกให้เข้าเรียนได้ ตอนนั้นผมยังอายุน้อย แม้จะมีความรู้ทางวิชาการวิศวโยธาพอตัว แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยนัก ดังนั้นการได้ไปเรียนวิชามัคคุเทศก์ครั้งนั้นจึงเป็นการเปิดหูเปิดตาให้ผมรู้จักวัด รู้จักวัง รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และ รู้จักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น

           ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเป็นเด็กนักเรียน ผมเข้าไปเดินเล่นในวัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพน บ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านหนังสือธรณีวิทยาในวัดโพธิ์ด้วยแล้วยิ่งสนใจเข้าไปดูหิน ดูฟอสซิลต่างๆ ที่ระบุไว้ในหนังสือ แต่ก็ได้เรียนรู้แค่นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น จนกระทั่งได้มาเรียนมัคคุเทศก์ และมีการพานักศึกษาไปเดินชมสิ่งต่างๆ ในวัดจริงๆ นั่นแหละที่ทำให้ผมเริ่มตระหนักถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมในวัดโพธิ์ และต้องนึกขอบคุณบรรพบุรุษของเราที่ช่วยสร้างสรรค์และรักษาศิลปะที่นิรมิตมาด้วยความอุตสาหะพยายามให้ตกทอดมาถึงรุ่นของเรา

           นอกจากเข้าใจในเรื่องของสิ่งน่าศึกษา น่าชื่นชม และ น่าอนุรักษ์แล้ว นักศึกษายังได้เรียนรู้เรื่องของประวัติของสิ่งต่างๆ ในกรุงเทพมหานครฯ หลายเรื่องด้วยกัน จริงอยู่จำนวนชั่วโมงไม่พอเพียงที่จะทำให้เรารู้ว่าทำเนียบรัฐบาลเดิมเป็นบ้านนรสิงห์ หรือ โรงพยาบาลวชิระนั้นเดิมเคยเป็นบ้านของคหบดีเชื้อสายจีนที่มั่งคั่ง แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้ผมเริ่มสนใจประวัติความเป็นมาของอาคารและสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร และ จังหวัดใกล้เคียง เวลาที่ผมขับรถยนต์ผ่านไปยังที่ใดก็ได้มีโอกาสระลึกถึงเหตุการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เหล่านั้น ทำให้ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดหรือเครียดที่รถราติดกันหนึบหนับไม่เคลื่อนที่เร็วเท่าที่ใจปรารถนา

           สำหรับผู้ที่มีนิสัยอย่างผมแล้ว ผมขอแนะนำให้หาพจนานุกรมเล่มนี้มาอ่าน ผู้เรียบเรียงได้มีความวิริยะอุตสาหะค้นหาประวัติของสถานที่ต่างๆ มาให้อ่านอย่างสนุก เนื้อหาก็ทันสมัยเพราะได้กล่าวถึงการที่ทาง กทม. ได้สอบถามถึงคำสะกดที่ถูกต้องของ ถนนสาธร มายังราชบัณฑิตยสถาน และนำไปสู่การแก้ไขชื่อถนน สาธร ให้เป็น ถนนสาทร อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน (เรื่องนี้ความจริงผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะการแก้ไขนี้ได้ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองอย่างมากมาย กทม. เองอาจเสียเงินค่าเปลี่ยนป้ายไม่มาก แต่ ผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นต้องเปลี่ยนนามบัตรใหม่ ต้องแก้ไขหัวจัดหมายกันใหม่ ต้องแก้ไขทะเบียนบ้านกันใหม่ ฯลฯ รวมแล้วเป็นเงินที่ต้องเสียไป โดยไม่เกิดประโยชน์มากเกินความจำเป็นที่จะต้องรักษาชื่อ ให้ตรงกับราชทินนามของหลวงสาทรราชายุกต์ และ ต่อไปในอนาคต หากจะมีการค้นหาข้อมูลเดิมในเอกสารที่ใช้คำว่า สาธร คอมพิวเตอร์ก็อาจจะค้นหาไม่พบ)

           พจนานุกรมเล่มนี้มีประวัติสถานที่ต่างๆ ให้ศึกษามากมาย แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ครบถ้วน เพราะมุ่งแต่เก็บเฉพาะคำที่เกี่ยวกับ วัด วัง ถนน สะพาน และ ป้อม เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจงได้อ่านประวัติของ วังบ้านดอกไม้ ของ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (ผมเคยมีญาติอยู่แถวนี้จึงรู้จักวังนี้ และ เคยแอบมองเข้าไปบ่อยๆ ) แต่ไม่ได้กล่าวถึง บ้านดอกไม้ แน่นอนครับ ในอนาคตเด็กๆ ก็คงจะไม่รู้ว่าดอกไม้ที่ว่านี้ไม่ใช่ดอกไม้หอมๆ แต่อย่างใด แต่เป็นดอกไม้ไฟ สมัยผมเด็กๆ แถวนั้นยังทำดอกไม้ไฟอยู่ และเกิดไฟไหม้บ่อยครั้งด้วย

           ที่ติงไว้นี้ไม่ใช่ข้อตำหนิ และทางราชบัณฑิตยสถานอาจจะบอกให้ไปอ่านอักขรนุกรมภูมิศาสตร์ก็ได้ แต่นั่นก็เป็นหนังสือชุดที่ใหญ่เกินไป ไม่กระทัดรัดเหมือนเล่มนี้

           โดยรวมก็คือ ผมอยากให้ราชบัณฑิตยสถานตีพิมพ์แผนที่กทม.ซึ่งระบุสถานที่ตั้งของชื่อที่ปรากฏในพจนานุกรมเล่มนี้เข้ามาด้วย (เลือกเฉพาะชื่อใน กทม. ก็พอ) และอยากแนะนำให้คนที่มีรถขับหาหนังสือเล่มนี้ติดรถไว้คอยอ่านเวลารถติด จะได้ซาบซึ้งกับประวัติสถานที่ต่างๆ แทนที่จะหัวเสียเพราะรถติด ราคา 140 บาทเท่านั้น ดีกว่าไปอวดเบ่งเคี่ยวเข็ญให้ผับเปิดเกินเวลาตีสองเป็นไหนๆ

Back