Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

 

หนังสือ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546
ปกอ่อน หนา 406 หน้า ราคา 100 บาท
สั่งซื้อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กทม 10200
โทร. 02-2221-213

      ราชบัณฑิตยสถานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2529 โดยครั้งนั้นมี ศาสตราจารย์ ดร. ชัย มุกตพันธ์ ราชบัณฑิต เป็นประธาน และผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการด้วยคนหนึ่ง ที่เป็นอนุกรรมการก็เพราะว่าเป็นกรรมการภายใต้กรรมการบัญญัติศัพท์วิทยาศาสตร์ คณะกรรมการได้ช่วยกันคิดศัพท์บัญญัติและเขียนคำอธิบายศัพท์เรียงจากตัวอักษร A ไปถึง C ใช้เวลาไปนานมาก จนกระทั่งท่านประธานได้ถึงแก่อนิจกรรมไปโดยยังไม่ทันเห็นผลงาน ต่อจากนั้นผมก็รับหน้าที่เป็นประธานสืบต่อมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงจากอนุกรรมการมาเป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์

      ต่อมาก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการด้วย เหตุผลที่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้เพิ่มจากคณะเดิมก็เพื่อให้สามารถแต่งตั้งกรรมการจากด้านโทรคมนาคม และ การสื่อสารเข้ามาร่วมได้อีกหลายคน ในขณะที่กรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์นั้นส่วนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามโดยที่ผมเป็นประธานกรรมการทั้งสองคณะ จึงสามารถเชื่อมโยงและแก้ไขศัพท์หลายคำที่ลักลั่นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

      หนังสือศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเล่มนี้ ได้จัดทำขึ้นแตกต่างไปจากเดิม คือนอกจากเพิ่มศัพท์ใหม่ ๆ แล้ว ยังได้นำศัพท์จากคณะกรรมการทั้งสองชุดมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้ค้นหาและอ้างอิงได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังจัดทำศัพท์แบบย้อนกลับ คือ สามารถค้นจากคำไทยกลับไปสู่คำอังกฤษได้ด้วย

      การจัดทำศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมีกรอบบังคับไว้ว่า ศัพท์ใดที่ได้บัญญัติเป็นคำไทยไว้แล้ว ให้พยายามใช้ศัพท์บัญญัติที่เป็นคำไทยนั้นให้ได้ ไม่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างศัพท์ภาษาอังกฤษกับศัพท์ภาษาไทย นั่นคือเมื่อเราเห็นศัพท์ที่เป็นคำไทย เราก็จะทราบทันทีว่าศัพท์เดิมในภาษาอังกฤษคือคำใด

      ปัญหาสำคัญก็คือ ศัพท์ในวิชาการไอซีทีนั้นเพิ่มพูนมากยิ่งกว่าศัพท์ในวิชาการอื่น ๆ นอกจากนั้นเมื่อเกิดคำหรือศัพท์ใหม่ขึ้นก็มีผู้นำไปเผยแพร่หรือใช้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ศัพท์ที่นำไปใช้กันนั้นน่าเสียดายที่บางคำผู้ใช้ก็ไม่ได้คิดคำไทยขึ้นอย่างถูกต้องตรงกับความหมาย เมื่อทางคณะกรรมการยกศัพท์มาพิจารณาและเห็นว่าควรแก้ไข แต่บังเอิญใช้กันมากแล้ว คณะกรรมการก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่น Portal ซึ่งใช้กันแพร่หลายว่า เว็บท่า ซึ่งเข้าใจว่าคนคิดศัพท์ขึ้นคงจะนึกถึง Port ที่แปลว่าท่าเรือ หรือ ท่าอากาศยาน แต่คำนี้ความจริงแปลว่า ประตู หรือ Gate เพราะ Portal ในทางเว็บ ก็คือประตูที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ใช้ให้สามารถเปิดเข้าไปสู่เว็บต่าง ๆ ได้ เชื่อว่าคนที่แรกคิดใช้คำว่า Portal ก็อาจจะนึกถึงคำเทียบเคียงกับคำว่า Window ที่ใช้กันแพร่หลายมาก่อนแล้ว เมื่อคำว่า “ เว็บท่า ” ใช้กันแพร่หลายอย่างผิด ๆ แล้ว ทางคณะกรรมการก็ไม่สามารถจะแก้ไขให้กลับมาถูกต้องได้ เพราะศัพท์ใด ๆ ก็ตามหากประชาชนนิยมใช้กันแพร่หลายแล้วก็ไม่สามารถจะไปทวนกระแสความนิยมนั้นได้

      มีคนเคยถามว่า เหตุใดจึงต้องเสียเวลาและเงินทองบัญญัติศัพท์เหล่านี้ให้เป็นคำไทย เพราะบัญญัติไปแล้วก็อ่านไม่เข้าใจ คำตอบก็คือ คนที่เข้าใจศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษนั้นก็คงจะเป็นผู้มีความรู้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ศัพท์บัญญัตินั้นคิดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปใช้ และอาจจะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ไม่รู้ด้านเทคนิค เมื่อไปอ่านพบศัพท์เทคนิคเหล่านั้นก็ย่อมจะไม่เข้าใจ หากมีศัพท์บัญญัติภาษาไทยให้ใช้ ก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คำว่า Backhaul เราบัญญัติว่า ช่องสื่อสารภาคพื้นดิน เมื่อเห็นคำภาษาอังกฤษ เราไม่มีทางเข้าใจเลยว่าคืออะไร หรือ Interstitial เราบัญญัติว่า โฆษณาแทรก นี่ก็เช่นกัน คำที่บัญญัติขึ้นเข้าใจง่ายกว่ามากทีเดียว อย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหลายคำที่เราไม่สามารถบัญญัติได้และต้องคงไว้เป็นคำทับศัพท์ เช่น อินเทอร์เน็ต หรือ ไซเบอร์สเปซ แบบนี้ก็มีมาก แต่เป็นคำวิสามานยนามที่บัญญัติให้เป็นไทยไม่ใคร่ได้อยู่แล้ว

      คำที่บัญญัติขึ้นนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากศัพท์บัญญัติเดิม ๆ หลายคำเหมือนกัน นั่นก็เป็นผลมาจากการที่เรารับฟังข้อท้วงติง และได้พยายามปรับให้ถูกต้องมากขึ้น บางครั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ความหมายของคำก็เปลี่ยนตามไป และเราก็ต้องเปลี่ยนศัพท์บัญญัติไปด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงนี้หากทำให้ใครต้องยุ่งยากสับสน ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากท่านที่ได้ซื้อหนังสือนี้ไปแล้วพบว่ามีศัพท์ที่ยังคลาดเคลื่อนในเชิงความหมาย หรือไม่เห็นด้วยกับคำใดบ้าง จะช่วยส่งความคิดเห็นมาให้เราทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

 

Back