Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization


สรุปเรื่องพุทธศาสนากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)
เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง ทรัพยากรมนุษย์ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8
วันที่ 5 มกราคม 2540
ณ โรงแรม ดิอิมเมอรัลด์ กทม.

     ในการศึกษานั้นเราต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา เช่นให้รู้ความหมายของการบริโภค ว่าเรากินเพื่ออะไร เพื่อสนองความต้องการที่จะเสพรสเอร็ดอร่อย หรือ เพื่อการแข่งขันวัดฐานะกัน หรือเพื่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ได้ เมื่อเราเห็นวัตถุประสงค์ชัดเจนและเข้าใจในทางที่ถูกแล้ว เราก็จะเริ่มมีปัญญาเกิดขึ้น พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป นี่ก็คือการใช้ปัญญานำการทำพฤติกรรม แล้วเราก็ไม่ต้องมีพฤติกรรมตามตัณหา

     ตัวการที่ทำให้หักเหกระแสความคิดออกจากตัณหาได้ก็คือ โยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดปัญหารู้คุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริง แล้วทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือความอยากประเภทที่ 2 ที่ควบคู่กับปัญญา เรียกว่า ฉันทะ เป็นความอยากที่เป็นกุศล เกื้อกูลต่อชีวิต ฉันทะต้องอาศัยปัญญา ปัญญารู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ฉันทะก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาเลยฉันทะก็เกิดไม่ได้ ต่างไปจากตัณหาซึ่งเป็นความอยากที่ไม่อาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น

     เราอาจให้ความหมายอย่างง่าย ๆ ได้ว่า
     1. ตัณหา คือ ความอยากในรสชาติที่เวทนาบอกเสนอ (= ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา)
     2. ฉันทะ คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา)
     และอาจสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมมนุษย์ได้เป็นสองแบบคือ
     1. (ไร้การศึกษา) : อวิชชา+ตัณหา = พฤติกรรมสร้างทุกข์ หรือก่อปัญหา
     2. (มีการศึกษา) : ปัญญา+ฉันทะ = พฤติกรรมสลายทุกข์ หรือ แก้ปัญหา

     กระบวนการที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ ทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดก็เริ่มมีการศึกษา และเกิดปัญญาขึ้น ทำให้เกิดมีการปรับตัว และ พฤติกรรมของมนุษย์เองด้วย ดังนั้นการศึกษาคือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหา บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ไปสู่การมีชิวิตอยู่ด้วยปัญญา ทำให้เกิดมีฉันทะที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง และทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา

     กระบวนการสำหรับพัฒนาคนแยกออกเป็นสองขั้นตอน คือ ขั้นนำสู่สิกขา หรือขั้นก่อนมรรค และ ขั้นไตรสิกขา

     ในขั้นแรกนั้น ควรเริ่มต้นจากสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปเอง แล้วแต่โชค หรือเพราะการดลบันดาล สัมมาทิฐินี้จะเกิดในตัวบุคคลได้เพราะปัจจัยภายนอก คือ ปรโตโฆษะ หรืออิทธิพลภายนอก และ ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนอีกหลายอย่างที่รวมแล้วเป็น 7 ตัวดังนี้]

  1. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร) มีคนที่ดีคอยกลั่นกรองชักนำไปในทางที่ดี
  2. ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) เป็นผู้มีวินัย มีระเบียบ และพฤติกรรมที่ดี
  3. ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ) มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ใฝ่รู้ สร้างสรรค์ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามเป็นเลิศ
  4. อัตตสัมปทา (ความทำตนให้ถึงพร้อม) ทำตนให้มีความสมบูรณ์ในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ
  5. ทิฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยหลักการแห่งความเชื่อถือ) คือเชื่อถือในหลักการแห่งเหตุผล
  6. อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) คือ ความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา มีสติ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่พลาดโอกาส ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา
  7. โยนิโสมนสิการ (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ) การรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง รู้จักสืบสาวหาเหตุปัจจัยแยกแยะให้เห็นองค์ประกอบ จับแง่ดีมาใช้ประโยชน์ได้ และรู้จักเชื่อมโยงให้เห็นองค์รวมหรือสร้างสรรค์ค์องค์ความคิดให่ได้

     สำหรับในเรื่องไตรสิกขา อันเป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคลนั้น ต้องพิจารณาว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนา และการศึกษานั้นสิ่งสำคัญจะต้องมีความเชื่อในโพธิ หรือ โพธิศรัทธา คือเมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่จำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะฝึกฝนตนเอง ส่วนการที่ประจักษ์ในโพธิหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล

     ระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการและให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นการฝึกในด้านพฤติกรรมที่เคยชิน เครื่องมือฝึกศีลก็คือ วินัย
สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต ทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ปัญญา เป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ตรวจสอบ คิดการต่าง ๆ สร้างสรรค์

     สำหรับการวัดผลการศึกษานั้น อาจใช้วิธีตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลโดยหลักสี่ประการคือ

  1. ภาวิตกาย มีการที่พัฒนาแล้ว คือ มีกายภาวนา มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและได้ผลดี หรือ กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ
  2. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อคามเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดำรงตนอยู่ในวินัย และอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูล สร้างสรรค์ และ ส่งเสริมสันติสุข นั่นคือ คบหาเป็น สังคมเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น ทำเป็น
  3. ภาวิตจิต มีจิตที่พัฒนาแล้ว คือมีจิตใจที่ฝึกอบรมดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยคุณภาพจิต ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออารี มีมุทิตา ความเคารพอ่อนน้อม ความกตัญญูกตเวที สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพจิต คือมีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีอุตสาหะวิริยะ รับผิดชอบ มีสติ มีสมาธิ สมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต คือจิตใจร่าเริง เบิกบานสดชื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตั้งจิตเป็น วางใจเป็น ทำใจเป็น
  4. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือรู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้จักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำการต่าง ๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปราศจากอคติและแรงจูงใจเคลือบแฝง เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ ปราศจากปัญหา หรือ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ดับทุกข์เป็น

ผู้มีครบทั้งสี่อย่างนี้โดยสมบูรณ์แล้ว เรียกว่าเป็น "ภาวิตัตตะ" แปลว่าผู้ได้พัฒนาตนแล้ว ได้แก่ พระอรหันต์ เป็นอเสขะ คือผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป

 

Back