IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

บทสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

CIO Newsletter ประจำเดือน มกราคม 2543

ทักทาย CIO

สวัสดีครับท่าน CIO ก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 มาแล้ว ผู้บริหารภาครัฐโดยเฉพาะท่านที่เป็น CIO คงจะเหนื่อยไปตามๆ กัน กับปัญหา Y2K แต่ประเทศไทยก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ นับว่าเป็นที่น่ายินดียิ่ง เนคเทคในฐานะเป็นศูนย์ประสานงาน Y2K แห่งชาติ ใคร่ขอขอบคุณ CIO ทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจาก Y2K ในครั้งนี้อย่างดียิ่ง ทั้งยังเป็นตัววัดได้อย่างหนึ่งว่า ทุกท่านประสบความสำเร็จในการบริหารงานด้านไอทีไปส่วนหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีภาระอีกมากที่รอให้ท่านบริหารจัดการ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจาก CIO ทุกท่านเพื่อความสำเร็จในภาพรวมของประเทศ

ขอทราบบทบาทของเนคเทคต่อการพัฒนาไอทีของประเทศ

นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แล้ว ในด้านนโยบาย เนคเทคยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ โดยคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ มีภารกิจหลักคือ การเสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างบรรยายกาศให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงานต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม การปรับปรุงกฎหมายระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการผลิต การบริการ การวิจัย และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ที่สำคัญอีกประการคือ เสนอมาตรการ แก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้การดำเนินงานของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ กระทำโดยผ่านคณะอนุกรรมการต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 18 ชุด

ขอทราบความเป็นมา และเหตุผลในการแต่งตั้งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐ

CIO บางท่านที่ยังมีความสงสัยว่าทำไมจะต้องตั้ง CIO ขึ้นมาในองค์กรภาครัฐ ซึ่งเพิ่มภาระให้ผู้บริหารมากขึ้น ผมใคร่ขออนุญาตชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกครั้งว่า สาเหตุที่มีการแต่งตั้ง CIO ในหน่วยงานภาครัฐนั้น สืบเนื่องมาจากการศึกษาเชิงนโยบายเรื่อง “ไอทีเพื่อการปฏิรูปภาครัฐ” ของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2541 พบว่าปัญหาที่สำคัญของการนำไอทีมาใช้ในภาครัฐมีปัญหาหลักๆ อยู่ 4 ด้าน ได้แก่ ปัญหาเรื่องข้อมูล, บุคลากร, การบริหารจัดการ และเรื่องการวัดผล โดยต้นเหตุที่สำคัญของปัญหาในภาครัฐประการหนึ่ง คือ ขาดผู้นำระดับสูงที่มารับผิดชอบงานด้านไอที และหนึ่งในข้อเสนอแนะของการศึกษา ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2541 คือให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer: CIO) ประจำกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานด้านไอที การจัดทำแผนแม่บทและการประสานแผนไอทีของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัด เพื่อกำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามนโยบายไอที รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการบริการงานของกระทรวง และส่วนราชการในสังกัด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นภาระสำคัญที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการบริหารจัดการของผู้บริหารระดับสูง ที่จะต้องร่วมประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน และผลักดันนโยบายหรือแผนไอทีให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้

ขอทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการดำเนินตามนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ไอทีของภาครัฐ

นับจากที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น CIO จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตร CIO ที่เนคเทคและสำนักงาน ก.พ. ร่วมกันจัดทำขึ้นภายในเวลา 1 ปี นับจากที่ได้รับการแต่งตั้ง ขณะนี้เนคเทคร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ได้จัดการอบรมไปแล้วจำนวน 7 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 205 ท่าน โดยมีผู้ยังไม่ได้รับการอบรมอีกประมาณ 50 ท่าน และในการจัดอบรมแต่ละครั้ง เนคเทค และสำนักงาน ก.พ. ได้จัดเนื้อหาทางวิชาการที่เป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับไอที เพื่อให้ CIO ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานในหน่วยงานตนเองได้ และในการอบรมแต่ละครั้งจะให้ CIO ระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหาแนวทางในการพัฒนาไอทีของภาครัฐร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายร่วมกัน โดยเนคเทคจะเป็นแกนกลางในการนำความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับนั้นมาจัดทำโครงการเสนอผ่านไปยังคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานภาครัฐ และเสนอต่อไปยังคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติเพื่อให้ออกมาเป็นมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ เพื่อให้ได้เป้าหมายร่วมกันในอนาคต ดังตัวอย่างที่เนคเทคได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการ อาทิเช่น

  • การปรับปรุงแก้ไขระเบียบพัสดุ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ด้านไอที ทำให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้การบริหารงานของ CIO เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดซื้อพัสดุและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบอยู่ในขณะนี้ โดยที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ เนคเทค ได้มีการเจราจากับบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หลายราย ให้จำหน่ายซอฟต์แวร์ในราคาย่อมเยาว์เป็นพิเศษสำหรับภาครัฐ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ เป็นอย่างดี
    • การจัดทำซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ภาครัฐได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยคนไทย ในราคาถูก โดยปัจจุบัน เนคเทคได้จัดทำโปรแกรมประมวลผลคำชื่อว่า “เขียนไทย” ออกมาให้หน่วยงานได้ทดลองใช้กัน
    • การจัดตั้งสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Technology Services: GITS หรือ สบทร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริการเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network: GINet) และบริการเสริมต่างๆ ที่จะทำให้เครือข่ายมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
    • การร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศจัดสัมมนาทางวิชาการทางด้านไอทีให้กับ CIO และผู้ปฏิบัติงาน อาทิ การจัด CIO Forum เป็นประจำ การจัดสัมมนาทางวิชาการและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางด้านไอที ส่งผลให้ CIO ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจาก CIO โดยเนคเทคจะดำเนินการต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของ CIO

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ CIO ทุกท่าน

จากการดำเนินงานในการส่งเสริมการใช้ไอทีของภาครัฐ ปัญหาที่ท่านประสบคืออะไร และมีแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร

การพัฒนาไอทีของภาครัฐนั้น จากการที่เนคเทคได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของ CIO เมื่อปีที่แล้ว โดยรวมทุกหน่วยงานจะประสบกับปัญหาคล้ายคลึงกันคือ เรื่องของการขาดงบประมาณ ขาดคนที่มีความรู้ ขาดความเข้าใจจากผู้บริหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่พบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคงต้องมีการปรับกลยุทธ์ และหาวิธีการทำงานให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม หรือเหมาะสมกับทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดโดยยึดหลักตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้น และต้องอาศัยความสามารถของ CIO ทุกท่าน และความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานซี่งจะทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังที่หลายหน่วยงานทำ และประสบความสำเร็จแล้ว

ทิศทางและแผนการดำเนินโครงการของเนคเทคต่อการพัฒนาไอทีของภาครัฐในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2543 นี้ เนคเทคร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จะจัดการอบรมแก่ CIO ที่ยังไม่ผ่านการอบรมประมาณ 2 ครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการพัฒนาไอทีในภาครัฐควบคู่ไปด้วย อาทิ

  • การจัดทำแผนแม่บทไอทีของส่วนราชการไทย: โดยเนคเทคจะเป็นแกนกลางในการประสานงานกับทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดทำแผนแม่บทไอทีในระดับประเทศเพื่อให้ทุกหน่วยงานมีการดำเนินงานด้านไอทีในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุเลาเบาบางลง การเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวก ทุกหน่วยงานสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบข้อมูลของภาครัฐที่เป็นเอกภาพ
  • การจัดทำโครงการวิสัยทัศน์ไอที: จากการมี CIO ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้การนำไอทีมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้เกิดการบริหารที่ดี และเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง คือ ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของรัฐได้เกิดความเข้าใจ และทราบถึงความสำคัญของการนำไอทีมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการสื่อสารให้เข้าใจกันมากขึ้น สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหา และอุปสรรคได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการแล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2543 นี้ โดยเนคเทคจะดำเนินกิจกรรมของโครงการตามที่เสนอต่อไป
  • การจัดทำโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ: จากวัตถุประสงค์ของการนำไอทีมาใช้ในหน่วยงานของภาครัฐ คือ การบริหารและการบริการประชาชนที่ดีขึ้น โดยในปีนี้เนคเทคได้ร่วมมือกับหน่วยงานอันประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ จัดทำโครงการรางวัลไอทีภาครัฐขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติแล้วเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2542 และได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่มีความสามารถในการพัฒนาไอที มาใช้ในการดำเนินภารกิจขององค์กรเพื่อการบริหารและการบริการประชาชนที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป โดยจะทำการส่งเสริมไปจนถึงระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีนโยบายที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยจะมีกิจกรรมอันประกอบด้วย การจัดสัมมนานานาชาติ การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และการมอบรางวัลให้กับโครงการด้านไอทีที่มีผลงานยอดเยี่ยม โดยผลของการได้รับรางวัลนั้นคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ จะเสนอให้เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาความดีความชอบด้วย ดังนั้น ใคร่ขอเชิญชวนทุกหน่วยงานที่มีโครงการด้านไอทีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหาร และการบริการประชาชน เสนอโครงการเข้ามาได้ ทั้งนี้รายละเอียดจะมีการประกาศให้ทุกหน่วยงานทราบในโอกาสต่อไป หรือท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 644-8150..9 ต่อ 639

ท่านอะไรอยากจะฝากถึง CIO เพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกหรือไม่

ผมใคร่ขอขอบคุณ CIO ทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุน และร่วมมือกับเนคเทคอย่างดีมาโดยตลอด และขอเป็นกำลังใจให้กับ CIO ทุกท่าน ในการพัฒนางานด้านไอทีในองค์กร ให้มีความก้าวหน้าและเหมาะสมกับภารกิจขององค์กร การพัฒนาไอทีในภาครัฐยังต้องการความร่วมมือและการประสานงานจาก CIO อีกมาก โดยเราจะเริ่มติดต่อกับ CIO ที่พร้อมใช้ระบบไร้กระดาษผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และหวังว่า เมื่อถึงปลายปี 2543 เราน่าจะใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึง CIO ทุกท่านได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ท้ายที่สุด ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้ CIO ทุกท่าน ประสบความสุขและความสำเร็จในการทำงานตลอดปี 2543 นี้ ครับ