IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายสงคราม ชื่นภิบาล
รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีบทบาทสำคัญในการเสนอความคิดเห็นเพื่อการกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ด้านการป้องกันประเทศ ด้านการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ยังประสานการปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ตลอดจนองค์กรของรัฐให้สอดคล้องและเป็นผลดีต่อความมั่นคงของชาติ และจัดทำแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอันเกิดจากวิกฤตการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย

ท่านสงคราม ชื่นภิบาล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ที่ให้ความสนใจด้านคอมพิวเตอร์มาเกือบ 20 ปี เมื่อท่านได้รับหน้าที่เป็น CIO ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ งานด้านไอทีและกระบวนการจัดทำแผนแม่บทไอที ของสภาความมั่นคงฯ มีความรุดหน้าอย่างไรและแนวคิดของท่านในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ ดังนี้

ขอทราบวิสัยทัศน์ด้านไอทีของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

วิสัยทัศน์ด้านไอทีของสภาความมั่นคงแห่งชาติ คือ พัฒนาบุคลากรให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไอที เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สำนักงานฯ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการปรับองค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานมีความเปิดกว้างและทันสมัย เพื่อพร้อมรับในการแก้ไขปัญหาและให้คำปรึกษาแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และส่วนราชการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมประสานการดำเนินงานของส่วนราชการทีเกี่ยวข้องทุกหน่วยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชาติ ทั้งฝ่ายเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมขนและฝ่ายวิชาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติโดยครบถ้วน รวมทั้งเป็นองค์กรประสานและเชื่อมโยงให้การรักษาผลประโยชน์ และความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปโดยต่อเนื่อง

ขอทราบบทบาท อำนาจหน้าที่ทั้งก่อนและหลังดำรงตำแหน่ง CIO

เดิมผมดูแลด้านข้อมูลข่าวสาร และการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานฯ ทั้งหมด ในส่วนตัวผมเคยเข้ารับการอบรมไอทีเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนที่ เมอร์ลิแลนด์ โดยได้ศึกษาเรื่อง Information super highway ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ความสนใจด้านไอทีและได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งได้ไปอบรม CIO ก็ยิ่งทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันนี้ ได้รับมอบหมายให้ดูแลข่าวสารของสำนักงานฯ รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยของสำนักงานทั้งหมด โดยมีขอบเขตที่กว้างขึ้นและมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้มากขึ้นจากเดิมด้วย

ขอทราบกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บทไอทีโดยสรุปของสมช.

เราเริ่มจากการหารือร่วมกัน แล้วเราพบว่าระบบไอทีและระบบสำนักงานไม่ได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเรามองว่าในการวางระบบในส่วนนี้ สมช. น่าจะได้ทำเอง เพื่อการฝึกฝนเพิ่มพูนประสบการณ์ และพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย ถ้าบุคลากรในหน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานใดๆ ก็ตาม ด้วยตัวเอง จักเป็นคุณค่าที่เขาต้องสานต่อไป หลังจากที่หารือว่า สมช.ต้องวางระบบเองแล้ว ก็วางแผนว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการทำงานเบื้องต้น โดยให้กองต่างๆ ค่อยๆ ก้าวเข้ามามีส่วนร่วม และค่อยๆ เข้มทีละนิดๆ โดยเริ่มจากการออกแบบสอบถามของแต่ละงาน เช่น ข้อมูลบุคคล มีการสัมมนาทั้งสำนักงานฯ เพื่อจัดเวทีของการมีส่วนร่วม มีการรายงานสถานภาพของไอที มีการตรวจสอบระบบงานของกองที่ทำด้วยระบบ manual โดยดูเนื้องานของตัวเองและวิเคราะห์แบบ functional model โดยดูหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละระบบว่ามี flow อย่างไร ได้มีการตั้งเป็นคณะทำงานพัฒนาระบบสารสนเทศของสมช. โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน มีกองวิทยาศาสตร์เป็นเลขานุการฯ และมีผู้แทนของทุกกองอยู่ในคณะทำงานของชุดนี้ ลักษณะการทำงาน คือต้องคิดและวิเคราะห์เอง หลังจากที่ให้ทุกกองมีส่วนร่วมในการดำเนินการแล้วก็ grouping งาน ซึ่งทุกขั้นตอนต้องผ่าน CIO ตลอด

เนื่องจากในอนาคตคิดว่าเราคงหนีจากงานไอทีไม่ได้ เราจึงควรคิดว่าเราจะหาและใช้มันอย่างไรให้คุ้มค่า และถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญ งานพวกนี้ก็ยากที่จะบรรลุผล ข้อจำกัดของการวิเคราะห์จากระบบของหลายหน่วยงาน คือ หาก CIO ไม่สามารถมองทุกอย่างทั้งระบบได้ ก็ยากที่จะเกิดความเชื่อมโยงที่ได้ผล เจ้าหน้าที่เทคนิค (technician) กับฝ่ายราชการต้องร่วมมือกันเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องระบบงานราชการ

การดำเนินการตามแผนใช้งบประมาณเท่าไร

งานในส่วนของที่ปรึกษา 2 แสนบาท งบประมาณอีกส่วน คือการจัดการสัมมนาภายใน สมช. เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งระบบ (workflow) ก่อนทำการดีไซน์ระบบ ซึ่งมีการจัดใน กทม. บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง รวมระยะเวลาประมาณ 3-4 ครั้ง ผมคิดว่าความสำเร็จจริงๆ มาจาก เริ่มระบบงานแต่ละระบบที่อยู่ในสำนักงานและเอาคนที่อยู่มในระบบมามองงานของตัวเองในลักษณะที่ใช้ระบบ manual ส่วนการจะปรับมาใช้ระบบ information system คงต้องใช้กับผู้ที่มีความชำนาญ ที่จะสามารถให้คำแนะนำได้ ผมได้ข้อเสนอจากเนคเทค หลายอย่าง แต่โดยไม่ใช่ในลักษณะให้ช่วยทั้งหมด เป็นการให้คำแนะนำโดย สมช. เป็นผู้ลงมือทำเองมากกว่า

ในกระบวนการจัดทำแผนแม่บทไอทีช่วงไหนที่ใช้เวลานานและเป็นปัญหามากที่สุด

นานที่สุด คือในช่วงการวิเคราะห์ระบบ ถึงขั้นตอนการปฏิบัติอย่างแท้จริงเพราะเป็นระบบใหญ่และต้องเชื่อมโยง ระบบทั้งเรื่องของครุภัณฑ์ วัสดุ จะเกี่ยวพันกันไปหมด ขั้นตอนการทำงานใน chart ที่กำหนดจะใช้เวลาทำแผน 6 เดือน แต่เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการทำแผนฉบับสมบูรณ์ โดยแผนไอทีฉบับเร่งด่วนเราทำสำเร็จภายใน 2 เดือน โดยเราต้องเร่งรีบในการวิเคราะห์ระบบกว้างๆ ซึ่งนับเป็นกุญแจที่ขยายผลมาสู่แผนฉบับสมบูรณ์ด้วย

แผนแม่บทกำหนดเป็นแผน 3 ปี เมื่อรวมกับแผนเร่งด่วนก็เป็น 4 ปี ซึ่งทั้ง 2 แผน สอดคล้องกัน ทั้งนี้แผนเร่งด่วนเป็นเหมือนบทสรุปของแผนฉบับสมบูรณ์เพราะเราคิดตั้งแต่ต้นและได้ครอบคลุมไปถึงอยู่แล้ว ในแผนฉบับสมบูรณ์จะกระจายไปในรายละเอียดในระบบงานต่างๆ มากขึ้น ซึ่งในส่วนของแผน 3 ปี เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงการตรวจสอบ ปรับปรุงเพิ่มเติมเท่านั้นก็เรียบร้อย โดย revise เป็นระยะๆ

ปัจจุบันมีดำเนินการตามแผนฯ ไปมากน้อยเพียงใด

ระบบงานที่เราจะพัฒนาใน ปี 2543 เรามีงบประมาณจากแผนเร่งด่วน ซึ่งเราได้มา 4 ล้าน ในการจัดทำ Server บางส่วน และมี application system software และฐานข้อมูลที่ต้องพัฒนา โดยในปีหน้าเรามีการตั้งงบประมาณจาก 45 ล้านบาทแต่ถูกลดลงเป็น 18 ล้านบาท

ขอทราบแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทไอทีของภาครัฐโดยรวม

บทบาทของเนคเทคเป็นบทบาทสำคัญของจุดเริ่มต้นในการจัดทำแผนแม่บท แต่ควรให้ความสำคัญในเรื่องทิศทางที่มีความชัดเจน เพราะเมื่อทำแผนเสร็จยังคงมีคำถามของความล้มเหลวในอนาคตต่อไปอีก ถ้าทิศทางตรงนี้ชัด บ้านเมืองจะเดินไปในแนวไอทีได้ ยกตัวอย่าง การทำแผนภายใต้ข้อจำกัดของบุคลากร ถ้าทุกหน่วยอ้างข้อจำกัดนั้นอย่างเดียวก็ไม่ต้องทำ มีบางส่วนที่พยายามทำให้แผนสำเร็จแต่มีปัญหาด้านบุคลากร ผมมองว่าตรงนี้เป็นทิศทางระดับชาติซึ่งทางสำนักงาน ก.พ หรือสำนักงบประมาณต้องร่วมมอง ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยว่าต้องทำก็ควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้หาก CEO ไม่เห็นชอบในเบื้องต้นแล้วไม่มีทางดำเนินไปได้ ทิศทางดังกล่าวจึงกลายเป็นทัศนะไป ดังนั้นรัฐบาลต้องมองในลักษณะที่เป็นระบบรวมทั้งหมด เช่น การลงทุนงบประมาณด้านไอทีในแง่ของระบบข้าราชการ ซึ่งต้องมองว่าจำนวนงบประมาณ และคนพอเพียงหรือไม่ โดยเป็นไปในลักษณะการเกลี่ยให้พอเพียง โดยมีเป็นมติครม. ประเด็นเรื่องบุคลากรสำคัญมาก ซึ่งควรมีการดำเนินการต่อให้จบกระบวนการ โดยอาจจะมีการประชุมกันสักครั้งในเรื่องนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานเล็กๆ อย่าง สมช. หากมีคนเกษียณ หรือถูกยุบอัตราก็ยิ่งลำบาก ซึ่งขณะนี้ สมช. กำลังขอกำลังพลเพิ่มโดยเฉพาะในส่วนของไอที เรากำลังคิดว่าจะทำโครงการโดยจะขอเงินจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีให้เป็นลูกจ้างก่อน ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการรอผลการดำเนินการอยู่

ภารกิจสำคัญสุดของ สมช. คือการรักษาความมั่นคงซึ่งต้องมีข้อมูลงานด้านข่าวกรองรองรับ ไอทีจะเข้ามามีบทบาทมากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่าไอทีมีประโยชน์มากเลย เดิมเราใช้ข้อมูลข่าวสารจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยการเก็บ file ธรรมดา และข่าวสารบางอย่างต้องรอเอกสารเข้ามา ถ้าเรามีการใช้ระบบไอทีแล้ว ข่าวจะวิ่งเร็วมาก หรือถ้ามี อินเทอร์เน็ต เราก็สามารถล่วงรู้ไปได้ทั่วโลก เราทำงานไม่เฉพาะข้อมูลข่าวสารของส่วนราชการเท่านั้น เรามีความร่วมมือกับต่างประเทศอีกหลายประเทศ หากเราใช้ไอทีจะมีความรวดเร็ว ถูกต้องของข้อมูลข่าวสารและเป็นประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบายหรือการแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ

นอกจากนี้ สมช. ยังเป็นหน่วยงานที่นำข่าวมาใช้ ไม่ใช่หน่วยงานที่ออกไปหาข่าว ทำอย่างไรที่จะสามารถนำข่าวมาใช้ได้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ซึ่งกระบวนการของความรวดเร็วคือ ไอที ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ แต่ในขณะเดียวกันก็มีทางลบอยู่แล้วถ้าเราไม่สามารถดูแลตรงนี้ได้ดีพอ ก็สามารถถูกตรวจสอบจากที่อื่นได้เหมือนกัน ตรงนี้เป็นกระบวนการบริหารไอทีที่เราห่วง และมุ่งหวังว่า มันอาจจำเป็นต้องมี offline ระบบหนึ่ง online ระบบหนึ่ง ที่ต้องมีการ offline เพราะขณะนี้โลกได้เปลี่ยนให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ในส่วนของความมั่นคงของชาติ ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ไอทีที่น่าจะสนับสนุนงานของ สมช.ได้มาก คือกระบวนการด้านเครือข่ายที่หลากหลายและเป็น international มากขึ้น ในปัจจุบันพัฒนามาได้ระดับหนึ่ง คือบุคลากรสามารถใช้งานบนอินเทอร์เน็ตได้ค่อนข้างกว้างขวาง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดต้องการข้อมูลใดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ฐานข้อมูลในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาจากหลายหน่วย ซึ่งถ้าจุดตรงนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องและเป็นระบบทั้งประเทศ มันจะ link ได้ด้วยตัวระบบเอง และเราต้องพัฒนา ในการเชื่อมโยง approach เป้าหมายเฉพาะในส่วนของกระบวนการ

ณ ปัจจุบัน ในเรื่องของความแม่นยำ ถูกต้อง รวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร มีการพัฒนามากกว่าเดิมมากขึ้นเนื่องจาก สมช. เป็นหน่วยนโยบายและเป็นผู้ใช้ข่าว ในการกำหนดนโยบาย มาตรการปฏิบัติ และมีกระบวนการตรวจสอบประเมินค่าตีความจากข่าวสารมาเป็นข่าวกรอง ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้และประสบการณ์ของผู้ทำที่จะประเมิน วิเคราะห์ และตีความความน่าเชื่อถือของข่าว

ขอทราบระบบสารสนเทศหลักตามแผนแม่บทฯ ของ สมช.

ระบบแรก ระบบฐานข้อมูลทั่วไป (administer) อาทิ ในเรื่องแผนงานโครงการ ทรัพยากรมนุษย์ การจัดหาจัดซื้อ จัดจ้าง ทั่วๆ ไป ซึ่งมีกฎระเบียบ การประชาสัมพันธ์ตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งวิเทศสัมพันธ์ ค่อนข้างเป็นระบบงานใหญ่ โดยจัดทำทั้ง 2 ด้านควบคู่ไป คือในส่วนที่มีระบบอยู่แล้ว และพัฒนาต่อเนื่องเพื่อประหยัดงบประมาณและไม่ซ้ำซ้อน อาจต้องอาศัยเนคเทคเรื่องการมอง application บางตัวซึ่งทุกกระทรวง ทบวง กรมสามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่ต้องพัฒนาใหม่ ผมมองว่าเป็นการสูญเสียที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะจัดทำแผนแม่บทแล้ว จะพัฒนาระบบงานของตัวเองโดยมีการตั้งงบประมาณไว้ในแต่ละระบบ ซึ่งหากมีการมองในภาพรวม บาง application จะสามารถใช้งานร่วมกันได้

ในส่วนของซอต์ฟแวร์บางตัวที่มีการให้หน่วยงานอื่นได้ร่วมใช้นั้น มักถูกพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าถึงแม้ซอฟต์แวร์จะสามารถใช้ร่วมกันได้ก็จริง แต่ก็ย่อมต้องถูก fix ด้วยความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อความสะดวกในการทำงานอยู่ดี ฉะนั้นในการนำมาใช้จะไม่สามารถตอบสนองต่อหน่วยงานอื่นๆ ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่ถ้ามีการดีไซน์ที่จะใช้งานร่วมกันจะถูกดีไซน์ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน โดยรัฐบาลไทยควรดีไซน์ฐานข้อมูลกลางที่สามารถใช้งานได้หมดทุกหน่วยงาน โดยมีกติกาในการปฏิบัติ จนในที่สุดจะสามารถ online ได้ทั้งประเทศ อาจมี password ในการจัดการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่อาจจะยุ่งยากในการเข้าไปจัดการ การดีไซน์ application เท่านั้น หากทำตรงนี้ได้เราจะประหยัดงบประมาณได้มากทีเดียว

ระบบที่สอง ระบบฐานข้อมูลในการสนับสนุนในการกำหนดนโยบาย เป็นลักษณะกฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายต่างๆ พรบ. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นฐานข้อมูลใหญ่

ระบบที่สาม ระบบงานฐานข้อมูลงานข่าวกรอง รวมทั้งสถานการณ์ข่าวทั่วไปที่เราจะนำเป็นบันทึกเข้ามาเพื่อใช้ในการเสนอแนะนโยบายความมั่นคง ซึ่งเป็นภารกิจของ สมช.

ระบบที่สี่ ระบบเครือข่ายในเชิงวิชาการ เพื่อนำมาสนับสนุนเชิงนโยบาย

ระบบที่ห้า ระบบการพัฒนาบุคลากร ที่ต้องควบคู่ไปในแผนด้วยเพื่อความสมบูรณ์

ส่วนระบบที่นอกเหนือจากแผน คือ ระบบการทำประชาพิจารณ์ ตามรัฐธรรมนูญ และ ระบบ พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ การทำประชาพิจารณ์เราอาจจะมี room สำหรับ chat หารือกับประชาชน เกี่ยวกับ นโยบายที่เราได้ออกไป คิดเห็นอย่างไร ระบบการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีขอบเขตในการประชาสัมพันธ์ มี homepage แล้วและมีฐานข้อมูลสำนักงานเบื้องต้น แต่ยังไม่มีฐานข้อมูลที่จำเป็นมากนัก เราให้ความสำคัญกับการบริหารนโยบายเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นในช่วง ปี พ.ศ. 2543 ระบบที่จะสามารถใช้งานได้ก่อน คือระบบข้อมูลพื้นฐานในการสนับสนุนนโยบาย กฎระเบียบ ข่าวกรอง network ภายใน

ขอทราบระบบสารสนเทศภายในหน่วยงานของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่หน่วยงานอื่นสามารถขอใช้ได้

ระบบเปิด เป็นระบบที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในข้อมูลได้ เพราะเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลแล้วความรับผิดชอบทางกฎหมายทางแพ่งและอาญาจะเกิดขึ้นทันที และข้อมูลของเราค่อนข้างจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้น จะเกิดผลกระทบถ้าเราไม่สามารถควบคุมระบบเครือข่ายของเราได้ คงลำบาก จากข้อจำกัดตรงนี้จึงต้องมีการหารือกันอย่างรอบคอบ ตามที่ สมช. เป็นหน่วยที่ค่อนข้าง sensitive ไม่เหมือนหน่วยบริการอื่น แต่ก็มีข้อมูลหลายตัวในเชิงเปิด หรือนโยบายบางส่วนที่ไปกระทบต่อประชาชนโดยตรง ต้องมีการเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญใหม่ (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร) แม้ว่าทางเนคเทคพยายามพัฒนาระบบ security อยู่ อาทิเช่น ระบบ การ์ด ซึ่งต้องคุยในทุกส่วน ทั้งเอกชนและภาครัฐ ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบและผลประโยชน์ร่วมกันในระดับชาติ ไม่ใช่ สมช. จะสามารถรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างเดียว ผมคิดว่า GINet สำคัญเพราะหากมีข้อมูลในนั้นแล้ว ทุกคนก็สามารถร่วมใช้ได้ ในอดีตที่ผ่านมา ต่างกระทรวงต่างทำ นโยบายบางกระทรวงกับนโยบายรัฐบาลบางอย่าง หรือในงานด้านความมั่นคงบางเรื่องกับหน่วยงานที่ดูแล ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน จะยากมากขึ้นในการเชื่อมโยงข้อมูล ดังนั้น GINet จะสำคัญมาก แม้จะเป็นการลงทุนสูง แต่ในระยะยาว บ้านเมืองจะได้อะไรมากมาย ทั้งเรื่องการกำกับดูแล การคอรัปชั่นและอื่นๆ อีกมาก

ขอทราบรายละเอียดโครงการที่นับเป็น Master piece ของท่าน

ปัจจุบัน มี 3 เรื่องสำคัญๆ คือ การก่อการร้ายสากล อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงของชาติทางทะเล ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และจะมีผลเป็นรูปธรรมในไม่ช้านี้

ในส่วนของงานก่อการร้ายสากล ได้มีการสัมมนาไปเมื่อปีที่แล้ว และเชิญมิตรประเทศมาร่วมทำให้ได้รับความรู้มาก ปัญหาการก่อการร้ายสากลน่าสนใจเพราะปัจจุบันมีน้อยลงแต่รุนแเรงขึ้นและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไอทีสามารถทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้ ระบบเศรษฐกิจของบางประเทศพังได้

ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย การเดินทางเข้า-ออก เสรี ประชาชนจากทุกประเทศสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 15 วัน โดยไม่ต้องมี visa จึงสะดวกมากในการเดินทางเข้าออก อาชญากรพวกนี้เข้ามาค้ายาเสพติด ปล้น ฆ่า ปลอมบัตรเครดิต ค้าประเวณี ค้าเด็ก ส่งคนไปประเทศที่ 3 ซึ่งเรารู้ความเคลื่อนไหวมาตลอดและนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นและกระทบต่อปัญหาโดยรวม กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติยศของประเทศโดยรวม ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายยังไม่สมบูรณ์ การปล่อยปละละเลย จึงต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายความมั่นคงของชาติ สมช. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะ จัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมด้วย คาดว่าจะนำมาสู่การกำหนดนโยบายระดับชาติต่อไป

ส่วนเรื่องความมั่นคงของชาติทางทะเล เดิมเราไม่เคยมีนโนบายด้านนี้ แต่จากการระดมสมองพบว่ามีการขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 95% หากเกิดปัญหาทางทางน่านน้ำขึ้น เช่น ปัญหาทรัพยากร ปัญหาเขตน่านน้ำ ที่ยังคงมีอยู่หลากหลายในประเทศเพื่อนบ้าน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเกิดการสัมมนาเรื่องนี้ขึ้นมาระดมความคิดกำหนดนโยบายเรื่องนี้ ซึ่งนับเป็นนโยบายระดับชาติที่กำลังเร่งปฏิบัติอยู่

ท่านใช้เทคโนโลยีมากน้อยเพียงใดในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน

ส่วนมากไปเล่นที่บ้าน เพราะที่ทำงานไม่มีเวลาเลย ผมมีความคิดเห็นเรื่องการรับ-ส่งจดหมายราชการโดยลงลายมืออิเล็กทรอนิกส์ทางคอมพิวเตอร์นั้น ผมมองว่าการดีไซน์ระบบทุกวันนี้ไม่ support ผู้บริหารที่จะให้ใช้งานอย่างง่ายๆ เท่าที่ควร เช่น การดีไซน์ mail ของผู้บริหารในรูปแบบที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน อาจจะสร้าง group mail ไว้ให้ และผู้บริหารสามารถคีย์ข้อมูลส่งเองได้เลย สร้าง routine job ไว้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารทำเองได้ แต่ก็จะติดในเรื่องของโอกาสและระบบยังไม่เชื่อมโยงกันเท่าไร

ท่านมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับแนวนโยบายเรื่องผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ที่เนคเทคและสำนักงาน ก.พ. ร่วมกันจัดทำขึ้นนั้น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับประเทศไทยที่มีขีดจำกัดหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องงบประมาณและบุคลากรไอที จึงควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจนมีการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ต่อไป นอกจากนี้ผมคิดว่าควรมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์กลางขึ้น โดยสามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก และเป็นการพัฒนาบุคลากรในประเทศไทยด้วยแทนที่จะซื้อ know how มาจากต่างประเทศทั้งหมด

ประเด็นสำคัญที่ สมช. กำลังดำเนินการในขณะนี้ คือ ผลกระทบทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาพรวม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ กลุ่มโครงสร้างกฎหมายของไทย ระบบการบริหารจัดการ ระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ผลกระทบต่อระบบวิถีของสังคม จริยธรรมไทย เมื่อไอทีเข้ามาในชีวิตประจำวัน ซึ่ง สมช. จะทำการตรวจสอบ (Monitor) โดยให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการมองและสร้างความห่วงใยต่อผลกระทบจากไอที

ขอทราบคติพจน์/หลักในการทำงานของท่าน

การเป็นนักบริหารก็ต้องทำตัวแบบนักบริหาร