IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์
ประธานกรรมการบริหารบริษัทด้าต้าแมท จำกัด (มหาชน)

ประเด็นเรื่องความขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐ เป็นประเด็นที่ท่าน CIO ให้ความสนใจ และกล่าวถึงกันทุกครั้งที่มีการระดมสมอง CIO Newsletter ฉบับนี้ พบกับมุมมองในประเด็นนี้จากผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนบ้าง บทสัมภาษณ์ “ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์” เกี่ยวกับ “ความขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย” คงพอจะให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน CIO และท่านผู้อ่านทุก ท่านดร. มนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทด้าต้าแมท จำกัด (มหาชน) นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้แตกฉาน เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงไอที และแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในเรื่องซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังเป็นผู้มีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ โดยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกิตติมาศักดิ์สมคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

ในฐานะบุคคลที่อยู่ในธุรกิจด้านไอที ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจารย์พบปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้บ้างหรือไม่

ความจริงแล้วเรื่องการขาดแคลนก็ขาดแคลนมาโดยตลอด แต่ระยะ 2 ปีหลังมานี้การขาดแคลนเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤติ เหตุผลคือ เรากำลังอยู่ในช่วงข้ามเปลี่ยนทางเทคโนโลยีสารสนเทศจากระบบเดิมสู่ระบบใหม่ซึ่งมีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐานสำคัญ ถ้าตอนนี้เราไปดูระบบขององค์กรต่างๆ จะพบว่าส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเดิม ซึ่งมีลักษณะเป็น two-tier client server และยังมีการลงทุนในระบบประเภทนี้อยู่ เคยมีตัวอย่างจริงเกิดขึ้นในบางบริษัทที่ต้องการที่จะขยายระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตน และมีบริษัทผู้ให้บริการรายหนึ่งเสนอที่จะสร้างระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ในแบบ three-tier client server เพื่อรองรับอินเทอร์เน็ต แต่ปรากฏว่าผู้บริหารทางไอทีของบริษัทว่าจ้างยังไม่คุ้นกับระบบแบบใหม่นี้ ยังไม่คุ้นกับโปรแกรมภาษา JAVA ยังไม่คุ้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการมีระบบแบบนี้ จึงตัดสินใจที่จะหันกลับไปใช้เทคโนโลยีแบบเก่า โปรแกรมแบบเก่า ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น การขาดแคลนบุคลากรไอที ในความเห็นของผมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือการขาดแคลนโดยตรงกับการขาดแคลนโดยอ้อม การขาดแคลนโดยตรงนั้นหมายความว่าเราต้องการ 5 คนแต่หาได้เพียง 2 คน แต่การขาดแคลนโดยอ้อมนั้นหมายความว่า ลักษณะของทักษะที่เราต้องการนั้นยังไม่ได้รับการพัฒนา เราจึงหันไปหาเทคโนโลยีแบบเก่าเพราะไม่มีบุคลากร ซึ่งผมเห็นว่า การขาดแคลนโดยอ้อมนั้นก่อให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงเท่าเทียมหรืออาจจะยิ่งกว่าการขาดแคลนโดยตรงเสียอีก เพราะถ้าเป็นการขาดแคลนโดยตรง การขาดแคลนนั้นจะเห็นได้โดยชัดเจน เช่น เรามีโครงการขนาด 20 ล้านแล้วเราก็อาจจะตัดสินใจไม่ลงทุนในโครงการนั้นเพราะไม่มีบุคลากร แต่ถ้าเรามีบุคลากรแต่เป็นบุคลากรที่ล้าสมัย แล้วเราอาจจะตัดสินใจลงทุนไป 20 ล้าน ใช้เวลาพัฒนาอีก 2 ปี เมื่อโครงการเสร็จสิ้นปรากฏว่าระบบที่สร้างขึ้นมาก็ใช้ไม่ได้แล้ว ล้าสมัยไปแล้ว นี่คือความเสียหายใหญ่หลวง ในส่วนของบุคลากรไอทีเองก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ผู้ที่จะมีปัญหาก็คือนายทุนที่ออกเงิน เพราะโดยปกตินายทุนก็จะตัดสินใจตามคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านไอที ซึ่งที่ปรึกษาด้านไอทีเองก็อาจตามเทคโนโลยีไม่ทัน หรือไม่รู้สึกมั่นใจ สะดวกใจ ที่จะเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็เลยแนะนำเทคโนโลยีแบบเก่า ซึ่งตนถนัดและมีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับราชการก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน การประมูลส่วนใหญ่ตอนนี้จะเน้นการประมูล hardware แต่ส่วนของเนื้อหาหรือ software ต่างๆ ก็ยังเป็นลักษณะเดิมคือ two-tier client server ตอนนี้หลายประเทศกำลังมุ่งสู่การเป็น e-government โดยอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเกื้อหนุน แต่สำหรับพวกที่ยังไม่ได้ศึกษาลึก หรือมีบุคลากรที่ยังขาดการพัฒนาทักษะให้ตามทันเทคโนโลยี ก็จะเห็นแต่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของการค้นหาข้อมูล (browse) จากต่างๆที่ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้าง (architecture) ของซอฟต์แวร์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งบุคลากรที่มีทักษะในเรื่องการออกแบบซอฟต์แวร์ในรูปแบบโครงสร้างใหม่นี้ยังหาได้น้อยมาก เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงการขาดแคลนบุคลากรไอทีในปัจจุบัน เราไม่ได้หมายถึงเฉพาะจำนวนที่ขาด ซึ่งก็ขาดอยู่มาก แต่เรายังหมายถึงการที่บุคลากรไอทีที่มีอาชีพอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นก็จะไม่สามารถรองรับงานในอนาคตได้ หากขาดการพัฒนาต่อไป

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรต่อโครงการอบรมในหลักสูตรระยะสั้น เช่น 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อฝึกหัดบุคลากรให้เป็นโปรแกรมเมอร์หรือผู้วิเคราะห์ระบบ (system analyst)

จากที่เราทำงานอยู่เราก็รู้นะครับว่า การนำเด็กที่ไม่มีพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์อยู่ก่อนเลย เข้าอบรมเป็นเวลา 3 เดือน 6 เดือน แล้วจะให้มาเป็น system analyst มาเป็น programmer มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าโครงการอบรมระยะสั้นที่มีอยู่นั้นมันเป็นการเสียเปล่าหรือไม่ ก็คงไม่ถึงขั้นนั้นกระมัง เพราะอย่างโครงการอบรมระยะสั้นโครงการหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็เป็นลักษณะการอบรมจำนวนมากคือนักเรียนจำนวนหลายหมื่นคนในแต่ละรุ่น เพราะฉะนั้นในหมู่นักเรียนจำนวนมากนี้ ก็น่าจะมีสักจำนวนหนึ่งที่มีความสามารถและขวนขวายที่จะพัฒนาตนเองต่อไปอีก เพราะความจริงก็มีคนมากมายที่อาจไม่ได้เรียนในระบบมากนัก แต่ก็สามารถศึกษาเองจนมีความรู้ความสามารถ จากเหตุที่เป็นการอบรมจำนวนมาก ก็ต้องมีเด็กที่มีลักษณะเช่นนี้ คือพัฒนาตนเองได้ แต่ถ้าจะถามผมว่าเด็กส่วนใหญ่ที่จบจากโครงการอบรมระยะสั้นนี้นั้นจะหางานได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ ผมเคยเตือนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการริเริ่มจะมีโครงการนี้ออกมาแล้วว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวังสำหรับคนที่เข้าเรียน คืออาจเป็นการให้ความหวังเกินจริง เพราะการเรียนหลักสูตรแบบนี้ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วจะหางานได้ จริงอยู่ว่าในตลาดไอทีเราขาด programmer ขาดผู้บริหารระบบ ขาดบุคลากรหลายประเภท แต่ประเภทของบุคลากรที่เราขาดคือผู้มีความเชี่ยวชาญ หมายความว่าเราขาด skilled programmers เราขาด skilled analysts ไม่ใช่อะไรก็ได้ ไม่ใช่ผู้ที่มีเพียงความรู้เบื้องต้น เพราะฉะนั้นอย่าหวังว่าถ้าคุณไปเรียน 2 วิชามาแล้วจะหางานได้ ก็พยายามที่จะเตือนในเรื่องนี้ แต่ก็อย่างที่ผมพูดไปแล้ว ในจำนวนเด็กที่ผ่านการอบรมประเภทนี้ ก็จะมีบางส่วนที่ใช้ได้ หมายถึงว่ากลุ่มที่เรียนเป็นพื้นฐานเริ่มต้นแล้วต้องขวนขวายเรียนเพิ่มเติมเอง แต่อย่างน้อยโครงการเหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ที่ภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้ว่างงานอยู่เฉยๆ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับเขา

อาจารย์เห็นปัญหาในด้านการศึกษาหรือไม่ ในแง่ที่จะผลิตบุคลากรไอทีให้เพียงพอและสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด

จากที่มีโอกาสไปคลุกคลีกับหลายมหาวิทยาลัย ผมพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนอาจารย์ แต่เป็นการขาดแคลนงบที่จะให้โอกาสอาจารย์พัฒนาความรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เราขาดกองทุนที่จะส่งอาจารย์ไปอบรมหรือเรียนเพิ่มเติม จะเห็นว่าเวลามีการร่างหลักสูตร คนร่างหลักสูตรก็จะเขียนออกมาอย่างสวยหรู แต่เวลาสอนจริงก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวอาจารย์ หากบางท่านไม่มีโอกาสได้พัฒนาความรู้เพิ่มเติม ก็จะสอนเฉพาะที่รู้ ซึ่งมันอาจจะคนละเรื่องกับหลักสูตรที่วางไว้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผลเสียแก่เด็กนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เท่าที่ทราบก็จะตัดงบที่จะส่งอาจารย์ไปดูงาน ไปเรียนต่อ ไปเข้าสัมมนา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีอยู่ แล้วยิ่งนับวันเทคโนโลยีก็จะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นเท่าที่ผมเห็นคือขณะนี้มีอาจารย์ส่วนน้อยเท่านั้น คือที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ที่จะสามารถสอนเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ แต่อาจารย์เดิมที่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีบางส่วนที่พยายามพัฒนาตนเอง ศึกษาเพิ่มเติมเอง แต่ว่าส่วนใหญ่ก็คงยังสอนโปรแกรมภาษา C สอน Pascal กันอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ล้าสมัยไปแล้ว ไม่เป็นที่ต้องการในตลาดแล้ว

จริงๆ แล้วในหมู่ผู้ประกอบการก็เพิ่งมีการหารือกันเมื่อไม่นานมานี้เอง ว่าประเด็นเรื่องการขาดทักษะสำหรับรองรับเทคโนโลยีใหม่นั้นมีผลเสียต่อผู้ประกอบการ เพราะว่าค่าใช้จ่ายต้องมาตกอยู่กับเรา หมายความว่า เด็กจบใหม่ที่เข้ามาทำงานนั้นยังไม่พร้อมที่จะทำงานได้จริงเพราะเรื่องที่ได้เรียนมานั้นหมดสมัยไปแล้ว บริษัทก็เลยต้องลงทุนส่งเขาไปอบรมเพิ่มเติมก่อนที่จะทำงานได้จริง เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นทุนของการประกอบการก็จะสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในเวทีสากลก็ลดน้อยลง

ไม่ทราบว่าทางภาคเอกชนมีความคิดที่จะช่วยเหลือภาคการศึกษาโดยออกทุนให้แก่สถาบันเพื่อนำครูอาจารย์ไปพัฒนาความรู้ หรือไม่

ตอนนี้จนกันหมดนะ เอกชนก็จน รัฐบาลก็จน นี่คือปัญหา แต่จริงๆ แล้ว สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เอกชนลงทุน เอกชนก็จะมองดูแค่ความจำเป็นเฉพาะหน้า จึงเป็นสิ่งที่ควรอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ซึ่งอาจจะทำร่วมกับเอกชนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของรัฐบาลเป็นหลัก

อาจารย์มองเห็นแนวโน้มความต้องการด้านบุคลากรไอทีของประเทศไทยเป็นอย่างไรทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ผมแบ่ง IT industry ทั้งหมดในบ้านเราออกเป็น 5 ส่วนคือ telecommunitcation, data network, computer hardware, Internet, และ application software โดยแต่ละส่วนก็จะประกอบด้วยทั้งด้านที่เป็นฮาร์ดแวร์แท้ๆ กับด้านที่เป็นซอฟต์แวร์ ยกเว้น application software ประเภทเดียวที่มีแต่ซอฟต์แวร์ล้วนๆ ถ้าพูดถึงการขาดแคลนบุคลากรไม่ว่าจะเป็นในส่วนไหนของ industry ก็จะเป็นการขาดแคลนด้านซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ จริงอยู่สำหรับส่วนของ telecommunication นั้น การขาดแคลนบุคลากรด้านฮาร์ดแวร์ก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน และก็ไม่ใช่สำหรับอุปกรณ์ง่ายๆ ระดับพื้นฐาน แต่เป็นสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น พวก satellite และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (consumer electronics) ซึ่งสามารถใช้สื่อสารบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ที่เริ่มมีแล้วก็เห็นจะเป็นโทรศัพท์มือถือ พวกอุปกรณ์ wireless ต่างๆจะมีบทบาทมากขึ้น เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคมีผลิตออกสู่ตลาดและเป็นที่นิยมมากขึ้น บุคลากรที่มีทักษะในการออกแบบ embedded software ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น

การใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตจะมีมากขึ้น ถ้าวันนี้มีโครงการหนึ่งที่ต้องใช้ JAVA programmer จะพบว่าในตลาดแทบจะหาบุคลากรด้านนี้ได้น้อยมาก ถ้าต้องการ 100 คนผมว่าอาจจะหาได้สัก 10 คน ผมคิดว่าปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทันทีที่ความต้องการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นสรุปแล้วก็คือบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ที่ปรับตัวเองเข้าหาเทคโนโลยีอย่างใหม่ ตอนนี้ขาดแคลนค่อนข้างรุนแรง เช่น บุคลากรที่มีทักษะด้าน web programming ที่ผมพูดนี่ไม่ได้หมายถึง web page designer ที่ออกแบบรูปร่างหน้าตาของ web page เท่านั้น ซึ่งทักษะประเภทนี้สามารถฝึกฝนกันได้ไม่ยากนัก ในปัจจุบันผู้ที่จบด้านศิลปะ ด้านช่างศิลป์ต่างๆ หากได้รับการอบรมในระยะสั้น ก็จะสามารถทำงานด้านนี้ได้ดีเนื่องจากมีความสามารถในการออกแบบ ในการใช้สีได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงส่วนหน้าของกระบวนการทั้งหมดที่มีอีกมากมายและซับซ้อน

การขาดแคลนที่ผมพูดถึงนี่หมายถึงการขาดแคลนทักษะด้าน web programming ซึ่งรวมถึงความเข้าใจในการใช้ XML ความสามารถในการออกแบบโดยใช้หลักการของ dynamic HTML หรือพวกที่สามารถออกแบบในเชิง distributed components บุคลากรประเภทนี้ความจริงต้องนับว่าขาดแคลนอย่างรุนแรง สำหรับปัจจุบันอาจยังเห็นได้ไม่ชัดเจนนักเนื่องจากว่าองค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้ใช้ระบบอาจจะยังไม่เห็นว่าเขาจะต้องเปลี่ยนแปลง จะต้องก้าวเข้าสู่สิ่งใหม่สิ่งนี้ จึงยังไม่เรียกร้องอะไร แต่ผมเห็นว่าไม่ช้าไม่นานความจำเป็นนี้ก็จะแสดงตัวออกมาให้เห็น สมมุติว่ามีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เขาก็จะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ บริษัทใหญ่ๆ ก็จะไม่สามารถเพิกเฉยต่อความต้องการเทคโนโลยีใหม่นี้ต่อไปได้ ที่นี้ก็จะเกิดปัญหาหาบุคลากรไม่ได้

เมื่อต้องพิจารณาความต้องการบุคลากรเราก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเป้าหมายของภาครัฐ แนวนโยบายด้านไอทีของภาครัฐที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งตอนนี้ก็คือการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่พูดถึงนี้หมายถึงอะไร ขอบเขตเป็นอย่างไร ประเภทไหน เป็นต้น เป้าหมายทางตัวเลขที่กำหนดไว้คือภายใน 5-6 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยต้องการที่จะมีรายได้จากการส่งออกซอฟต์แวร์ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท เมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายผู้ประกอบการก็มีการปรึกษาหารือกันว่า ที่จะทำส่งออกควรจะเป็นซอฟต์แวร์ประเภทไหน ใช้เทคโนโลยีแบบไหน เราคงไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้ครอบจักรวาล ก็ต้องเน้นจุดที่มีความต้องการและเราสามารถทำได้ดี และก็เตรียมบุคลากรให้สอดคล้อง

แนวนโยบายประการที่สองคือการผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ใน 5-6 ปีข้างหน้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะกลายมาเป็นแบบแผนของการดำเนินธุรกิจ (business model) เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพิจารณาว่าการที่จะพัฒนา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นต้องการบุคลากรประเภทใดบ้าง ซึ่งก็น่าจะเป็นบุคลากรที่มีทักษะด้าน web programming, software security นโยบายประการที่สาม ก็เป็นเรื่องของ ระบบพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 78 ซึ่งระบุว่ารัฐจะต้องจัดหาการบริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน เมื่อไรรัฐบาลเริ่มปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะทำให้เกิดโครงการไอทีใหม่ๆ เป็นอย่างมาก และเมื่อนั้น การขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ก็จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้ารัฐยังนิ่งนอนใจ และไม่หาทางแก้ไขตั้งแต่บัดนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะมีปัญหาแน่นอน