IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายชาญยุทธ ปทุมารักษ์
รองอธิบดีและ CIO ของกรมสรรพากร

การบริหารประเทศของรัฐบาล สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประเทศได้เจริญก้าวหน้าหรือไม่ คือ งบประมาณแผ่นดิน โดยงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวก็ได้มาจากการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จึงมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นกลไกของรัฐ ในการบริหารประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น นายชาญยุทธ ปทุมารักษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร จะได้มาบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่กรมสรรพากร และความคิดเห็นต่อไอทีในปัจจุบัน รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

ขอทราบวิสัยทัศน์ด้านไอทีของกรมสรรพากร และการดำเนินการที่สำคัญๆ เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์

เรามุ่งเน้นในเรื่องการให้การบริการผู้เสียภาษี และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลการจัดเก็บเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และรวดเร็วขึ้น โดยใช้ไอทีในการบริหารจัดเก็บภาษีและเพิ่มช่องทางการเสียภาษีแก่ประชาชน อาทิเช่น การชำระภาษีผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ หรือทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้การบริหารข้อมูลข่าวสารยังมีความจำเป็นและสำคัญมาก โดยเฉพาะการบริหารจัดเก็บ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญของกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้สร้างระบบขึ้นมาทั้งหมด แต่ในอนาคตข้างหน้า แนวโน้ม คือการพัฒนาไปสู่การใช้ ID CARD เพียงใบเดียวในการทำธุรกรรมต่างๆ กับหน่วยงานราชการ เพื่อให้ประชาชนพกบัตรสำคัญๆ น้อยที่สุด นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมที่กรมสรรพากรได้รับ คือช่วยป้องกันการมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีซ้ำซ้อนอีกด้วย โดย link กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง maintain ข้อมูล และฐานข้อมูลเดิมของกรมสรรพากรก็ปรับไปใช้ในงานอื่นแทน

ขอทราบการนำไอทีมาใช้ในการบริหารจัดการกรมสรรพากร

ขณะนี้ได้นำไอทีมาใช้ในส่วนของกองการเจ้าหน้าที่ โดยทำการจัดเก็บประวัติ ข้อมูลข้าราชการระดับ 7 ขึ้นไป เพื่อใช้ในการคัดเลือกเลื่อนระดับชั้น หรือตำแหน่ง นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2537 เราเริ่มใช้ E-mail ในการรับส่งข้อมูลข่าวสารภายในหน่วยงาน (Intranet) และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กรมสรรพากร ได้มี web ในระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อบริการผู้เสียภาษี

ประชาชนสามารถเสียภาษีได้ทางใดบ้าง

ในปัจจุบัน มีทางเลือกในการเสียภาษีหลายช่องทาง ได้แก่ การชำระผ่านทางธนาคาร, ทางไปรษณีย์, ทาง Web site, และการชำระผ่านสื่อ ในโครงการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ โดยหน่วยงานหรือองค์กรสามารถยื่นความจำนงต้องการเสียภาษีตามโครงการนี้ จากนั้นกรมสรรพากรจะดำเนินการไปตาม flow ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการกรอกข้อมูลต่างๆ ได้มาก

ภายหลังการอบรม CIO ท่านมีแนวคิดอย่างไรในการนำไอทีมาพัฒนาในองค์กร

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในการ นำระบบ MIS เพื่อช่วยให้การบริหารจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา การจัดเก็บยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการพาณิชย์ ซึ่งตามกฎหมายเป็นการยื่นแบบชำระภาษีโดยการประเมินตนเอง ส่วนมากมักจะไม่แจ้งรายรับที่แท้จริงแก่กรมสรรพากร จึงต้องมีวิธีแก้ปัญหา โดยการส่งเจ้าหน้าที่สำรวจ ไปตรวจสอบ สังเกตปริมาณลูกค้าที่ เข้า-ออก สถานประกอบการนั้นๆ หากพบว่าตัวเลขภาษีเป็นเท็จจะมีการเชิญมาคุยยังกรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีเพิ่มเติมย้อนหลังต่อไป

ฐานข้อมูลของผู้ประกอบการต้องเชื่อมกับกระทรวงพาณิชย์มากน้อยเพียงใด

ข้อมูลที่ได้จากกระทรวงพาณิชย์ คือ ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเพราะจะมีการจดทะเบียน ทำให้ทราบรายละเอียดข้อมูลของบุคคลนั้นๆ เพื่อเป็นเบาะแสในการติดตามประเมินเรียกเก็บภาษี ในส่วนของฐานข้อมูลผู้เสียภาษีของกรมสรรพากรนั้น เราไม่สามารถเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกทราบได้ เพราะมีบทบัญญัติตามมาตรา 10 ระบุไว้ชัดเจนตามประมวลรัษฎากรว่า “ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีให้ผู้อื่นทราบ” ถือเป็นความผิด

โครงการที่นับว่าเป็น Master Piece ของท่าน

มีหลายโครงการด้วยกัน อาทิเช่น

  1. การนำไอทีมาช่วยเปรียบเทียบ ข้อมูลแบบแสดงรายการภาษีเงินได้กับแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งควรจะต้อง matching กัน เพื่อสังเกตความผิดปกติในการเสียภาษีของบุคคลนั้นๆ และช่วยลดงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ในการไปสำรวจสถานประกอบการ
  2. ในปัจจุบันกรมสรรพากรให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบผู้เสียภาษีต่างท้องที่ได้ โดยมีการ online ทั่ว กทม. ซึ่งเราสามารถ update ได้ เมื่อสิ้นวันนั้นๆ โดยในอนาคตจะต้องสามารถทำให้เป็น real time ทั่วประเทศ
  3. การจัดการ Review IT Master Plan ของกรมสรรพากร โดยเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกรมสรรพกร ได้แก่ รศ.ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, รศ. ยืน ภู่วรวรณ, ดร. โชติวิทย์ ชยวัฒนางกูร เพื่อให้เหมาะสมกับงานของกรมสรรพากรและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รวมถึง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรที่มีอยู่
  4. เป็นผู้ควบคุม Implement “PINTHIP” ระบบเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อทดแทนระบบ DG (Data General) เดิมที่ยกเลิกไป โดยได้นำเทคโนโลยีใหม่ คือ OO (Objected Oriented) และ Web เทคโนโลยี มาใช้ในระบบนี้และขยายระบบจากเดิมที่ใช้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นการใช้ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุงระบบเครือข่ายสายสัญญาณกรมสรรพากรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
  5. พัฒนาระบบรายงานการจัดเก็บภาษีอากรทั่วราชอาณาจักร โดยการเก็บข้อมูลจากเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) Online มายังส่วนกลาง (รายงาน บช.5) เป็นรายวัน ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองอยู่ 67 เขต/อำเภอ (เขตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งเมื่อขยายระบบเครือข่ายแล้ว น่าจะทำได้ทั่วประเทศ จะสามารถทำให้การติดตามการจัดเก็บของกรมสรรพากรได้รวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารมากในระดับกรมฯ ภาค และจังหวัด
  6. ควบคุมการจัดทำ TOR ของระบบงานคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรให้แล้วเสร็จ เพื่อประกวดราคา โดยจัดทำเป็นระบบๆ เช่น
    • ระบบเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (TIN)
    • ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT)
    • ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT)
    • ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
    • ระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT)
    • ระบบทะเบียนคุมรายการและการทำบัญชี (TCL)
    • ขอทราบการเตรียมความพร้อมของกรมสรรพากรในเรื่องการเก็บภาษีผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

การจัดเก็บภาษีของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คงไม่แตกต่างไปจากการจัดเก็บภาษีในด้านอื่นๆ เพียงแต่หาหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันบัตรเครดิต (American Express, VISA Card) ทำรายงานผลการโอนเงินธุรกรรมให้กรมสรรพากร ทั้งนี้ จะต้องศึกษาวิธีการจัดเก็บข้อมูลและจำนวนเงินที่เกิดการโอนบน Electronic ให้ละเอียดอีกครั้ง

ขอทราบแนวทางการประสานกับ CIO ในฐานะประธานรุ่นที่ 8

ผมมีความคิดเห็นว่า รูปแบบในการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ CIO ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ก.พ. และเนคเทค น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากการสัมมนาแล้ว ยังทำให้การประสานงานระหว่างผู้บริหาร (CIO) สะดวก รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการบริหาร เนื่องจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือวิสัยทัศน์ในหลายๆ มุมมองช่วยให้เรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น

ท่านมีอะไรจะฝากถึง CIO ท่านอื่นหรือไม่

ผมยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานอื่นๆ ในทุกเรื่อง

ท่านมีคติในการทำงานอย่างไร

ต้องชนะตัวเองก่อนจึงจะชนะผู้อื่นได้