IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

งาน Government IT Awards มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

โครงการ IT Awards นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะให้ภาครัฐนำไอทีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการบริการแก่ประชาชน รวมทั้งยังสนับสนุนรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 78 ในเรื่องการกระจายโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ซึ่งผลงานโครงการไอทีไทยของราชการจะเป็นจุดกำเนิดที่จะส่งผลให้การบริการประชาชนมีความสะดวก รวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้ทำการศึกษาเรื่อง “ไอทีเพื่อการปฏิรูปภาครัฐ” โดยได้เสนอกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน เพื่อลดปัญหา และอุปสรรค และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ โดยกำหนดเป้าหมายหลักของการบริหาร และการบริการของรัฐในรูปแบบ 4 ท. คือ ที่เดียว, ทันใด, ทั่วไทย, ทุกเวลา โดยการศึกษาพบว่าปัญหาและอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาไอทีภาครัฐ คือ ขาดแรงจูงใจ อาทิ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีการแข่งขันในการทำงาน เป็นต้น

มาตรการที่คณะวิจัยเสนอ คือ การจัดทำโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ ซึ่งได้เสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในหลักการ จึงมอบหมายให้สำนักงานเลขานุการฯ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงาน ก.พ., สำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำรายละเอียดของการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำ โครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Government IT Awards) ร่วมกัน เพื่อให้รางวัล และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยงานที่มีความสามารถในการนำไอทีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานองค์กร และเพื่อการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ ซึ่งมีผมเป็นประธาน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานต่อไป

การดำเนินการที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง

ตามที่ได้มีการมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดการจัดงาน Government IT Awards ครั้งที่ 1 ประจำปี 2543 นั้น ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของรัฐ ส่งข้อเสนอโครงการด้านไอทีเข้ามา และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิน ขณะนี้ เรากำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนเกือบจะสุดท้ายแล้วของการจัดงาน คือ การพิจารณาตัดสินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐดีเด่น โดยคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกโครงการที่ได้รับรางวัล จะทำการเยี่ยมชมโครงการที่เข้ารอบเพื่อการพิจารณาตัดสินที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม นอกจากนี้ เรากำลังดำเนินการในส่วนสำคัญที่สุด คือ การดำเนินการจัดงานสัปดาห์เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม 2543 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ซึ่งกิจกรรมภายในงานจะประกอบด้วย การจัดสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ, การจัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานด้านไอทีจากทั้งภาครัฐและเอกชน และการมอบรางวัลโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐดีเด่น

การตอบรับจากส่วนราชการในการส่งโครงการเข้าประกวด

กระแสการตอบรับหลังจากการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมส่งผลงานด้านไอที ตามโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ นับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ปีนี้ เราจัดเป็นปีแรก มีโครงการส่งเข้าประกวดเกือบ 30 โครงการ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับความสนใจก็ต้องยอมรับว่า กระแสการตื่นตัวด้านไอทีในปัจจุบันทำให้หน่วยงานราชการ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อเทคโนโลยีด้านนี้ได้อีกต่อไป การที่ สวทช. โดยเนคเทค ร่วมกับหน่วยงานราชการ ได้จัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐขึ้นนั้น นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้ ในการจัดงาน “สัปดาห์เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ” ได้มีคำขวัญเพื่อให้จดจำง่ายว่า “ภาครัฐจะใช้ไอที เพื่อการบริการที่ดีแก่ประชาชน” โดยเราตระหนักถึงเป้าหมายหลักของการบริการที่ 4 ท. คือ ที่เดียว, ทันใด, ทั่วไทย, ทุกเวลา

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา

ในการพิจารณาขั้นต้น โครงการที่ได้รับรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐดีเด่น จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ ดังนี้

  1. เป็นโครงการที่ได้นำมาใช้ในหน่วยงานแล้ว สามารถเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว ไม่ได้อยู่ในขั้นกำลังพัฒนา ถ้าใช้งานแล้วจะให้คะแนนเป็น ผ่าน ถ้ายังไม่ได้นำมาใช้งานจริง ถือว่าไม่ผ่าน
  2. มีการใช้เทคโนโลยีถูกต้องตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ โดยระบบที่นำมาใช้งานนั้น จะต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในส่วนของการพิจารณาหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน จะพิจารณาประเด็นเหล่านี้ คือ

  • การใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ โดยจะพิจารณาในภาพรวมของการใช้เทคโนโลยี
  • การบริหารโครงการ จะพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดการจนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้ คือ 1) มีเอกสารขั้นตอนการทำงานของระบบอย่างเหมาะสม หมายถึง เอกสารของระบบงาน (system manual) 2) มีการถ่ายทอดหรือฝึกอบรมผู้ใช้งานอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง 3) มีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจนสำหรับข้าราชการ/พนักงานที่เกี่ยวข้อง หรือ operations manual หรือ users manual 4) มีการประเมินผลโครงการเพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและนำผลมาแก้ไขปรับปรุงแก้ไขให้ระบบมีประสิทธิภาพ
  • การลงทุน โดยพิจารณาภาพรวมในเรื่องสัดส่วนของการลงทุนที่เหมาะสมในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยไม่ควรเน้นการลงทุนในด้านใดด้านหนึ่ง รวมทั้งมีการลงทุนด้านฐานข้อมูลอย่างเหมาะสม
  • ประสิทธิภาพ จะพิจารณาในภาพรวมของผลที่ได้รับเทียบกับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป หรือพิจารณาจากเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ ดังนี้ 1) การทำงานในระบบนั้นมีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับระบบเดิม 2) มีการใช้บุคลากรน้อยลงเมื่อเทียบกับระบบเดิม 3) ทำให้ลดขั้นตอน/ประหยัดเวลาในการทำงานหรือลดเวลาในการให้บริการเมื่อเทียบกับระบบเดิม

การจัดงาน Government IT Week ประกอบด้วยอะไรบ้าง

การจัดงานจะประกอบส่วนหลักๆ 3 ส่วน คือ 1) การจัดสัมมนาทางวิชาการและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ และการประยุกต์ใช้ที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผน และการบริหารด้านไอที 2) การจัดนิทรรศการ เพื่อแสดงผลงานหรือโครงการทางด้านไอทีที่ใช้ในการบริหารงาน และการบริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการแสดงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม และความก้าวหน้าทางด้านไอทีของทั้งภาครัฐและเอกชน 3) การมอบรางวัลโครงการไอทีภาครัฐดีเด่น เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้กับหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ ที่มีความสามารถในการนำไอทีมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอันจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆ ต่อไป โดยจะมีรางวัล 4 ประเภท ประกอบด้วย

  1. รางวัลโครงการบริการประชาชนดีเด่น: สำหรับโครงการที่มีการนำไอทีมาประยุกต์ใช้สำหรับการบริการประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น
  2. รางวัลโครงการบริการและบริหารข้อมูลดีเด่น: สำหรับโครงการที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์แก่ประชาชน โดยอาจจะเผยแพร่ข้อมูลบน web site หรือวิธีการใดๆ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้สะดวก หรือมีการนำไอทีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารข้อมูล ทำให้ข้อมูลมีคุณค่า และสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการบริหารงานภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. รางวัลโครงการความร่วมมือดีเด่นด้านไอที: สำหรับโครงการที่มีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับเอกชนก็ได้ ในการพัฒนาโครงการด้านไอทีจนประสบความสำเร็จ โดยเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วชัดเจน
  4. รางวัลโครงการไอทีดีเด่น: ให้กับโครงการที่เกิดจากความคิดริเริ่มใหม่ๆ หรือโครงการนำร่องที่ได้มีการนำไอทีมาใช้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด (ใช้งบประมาณไม่เกิน 1 ล้านบาท) โดยเห็นประโยชน์แล้วชัดเจน

โดยจะมีการมอบรางวัล คือ โล่ และใบประกาศเกียรติคุณ จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543

ความคาดหวังของการจัดการมอบรางวัล

ผมเชื่อว่าการดำเนินการ จัดทำโครงการรางวัลเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐขึ้นนั้น ในระยะยาวประโยชน์จะตกแก่ประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้ภาครัฐนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการและการบริการประชาชน ทั้งนี้ อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาไอทีในหน่วยงานภาครัฐต่อไป

ฝากถึง CIO

ในฐานะที่ CIO เป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการประสานความร่วมมือภายในองค์กรในด้านไอที ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนกระทั่งถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ CIO ต้องเร่งสร้างวิสัยทัศน์ด้านไอที และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านไอทีเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการหรือในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร และกระตุ้นสร้างความตื่นตัวให้บุคลากรในองค์กร/หน่วยงานตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญในการนำไอทีมาปรับใช้ในองค์กรโดยเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาองค์กรให้เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการรางวัล เทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลของการจัดงานดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะประสานความร่วมมือและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านไอทีให้แก่องค์กรของท่านยิ่งขึ้นต่อไป