IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายจำรูญ มาลัยกรอง
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

กองบรรณาธิการได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ท่านจำรูญ มาลัยกรอง CIO จาก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) ซึ่งได้เปิดเผยถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับไอที อาทิ วิสัยทัศน์ของ สปอ., โครงการไอทีรวมทั้งแผนแม่บทไอทีที่เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และกำลังขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการไอที สปอ. ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ ดังนี้

ขอทราบวิสัยทัศน์ของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.)

วิสัยทัศน์ของ สปอ. ในอนาคตมีเป้าหมายให้เป็น IT Office เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้เพิ่มกำลังคน ดังนั้น สปอ. จึงได้มีแนวนโยบายที่จะพัฒนาบุคลากรเท่าที่มีอยู่และเพิ่มอุปกรณ์การทำงาน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อาทิ การประมวลผล, การเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัย รวมถึงการบริการ การจัดการ การบริหารงาน

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีกด้วย ทั้งนี้ในอดีตภาคเอกชนยังไม่มีความแข็งแกร่งพอเพียง ภาครัฐจึงต้องเป็นผู้นำ ต่อมา เมื่อภาคเอกชนกลายเป็นผู้ปฏิบัติที่เข้มแข็งและสำคัญของประเทศแล้ว ภาครัฐจึงต้องช่วยเหลือสนับสนุนโดยเสริมศักยภาพของภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเจริญของเศรษฐกิจและสังคมไทย อันเป็นส่วนรวม

ขอทราบบทบาทสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สปอ.

สปอ. มีหน้าที่รับผิดชอบงานราชการทั่วไปของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นงานของกรมใดกรมหนึ่งโดยเฉพาะ โดยมีงานราชการในส่วนกลางแบ่งเป็น 9 กอง มีเจ้าหน้าที่ (ระดับที่ควรใช้ไอที) รวม 400 คน และส่วนภูมิภาคได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรม (สอจ.) ทั้ง 75 จังหวัด มีเจ้าหน้าที่ 525 คน นอกจากนี้ สปอ. ยังดูแลและสนับสนุนสถาบันอิสระอีกจำนวน 9 หน่วยงานที่ อก. ตั้งขึ้นแล้ว ฉะนั้น สปอ.จะทำหน้าที่กำกับ และเร่งรัดการปฏิบัติราชการของกระทรวง ติดต่อและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนควบคุมดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงานในส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามมาตรฐานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้แผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรมมีสถานภาพเป็นอย่างไร

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศประจำกระทรวงขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวง ซึ่งทำหน้าที่เป็น CIO ประจำกระทรวงเป็นประธาน และมี CIO ของแต่ละกรม และหน่วยงานในสังกัด เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยขณะนี้ได้รวบรวมแผนแม่บทไอทีของแต่ละกรม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณรัฐมาผนวกเป็นแผนรวม สำหรับส่วนของ สปอ. ก็มีคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ สปอ. ซึ่งได้ดูแลการทำแผนแม่บท 3ปี ฉบับแรก ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ต่อไป

หน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บทของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ภายหลังการอบรม CIO ตามมติ ครม. ได้กลับมาตั้ง คณะกรรมการโครงการไอทีประจำกรม (คทส.สปอ.) โดยมี CIO สำนักงานปลัดกระทรวงฯ คือ นายจำรูญ มาลัยกรอง เป็นประธาน, ผอก. กองแผนงานเป็นเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ สปอ., กรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการทุกกองและตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่างแผนแม่บทไอที โดยคณะกรรมการและประธาน จะเป็นผู้วางแนวนโยบาย ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี เพื่อก้าวให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในส่วนวิสัยทัศน์จะพยายามตั้งเป้าหมายให้ไกลที่สุด ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นแกนกลางในการจัดทำศูนย์ข้อมูลให้และประสานแผนแม่บทฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล จัดทำแผนปฏิบัติงานของกระทรวง, ติดตามสถานะการณ์/ศึกษาและวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดนโยบาย วางแผน กำหนดมาตรการ และหาวิธีแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีขีดความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ อก. มีโฮมเพจของเราเองโดย สศอ. ดูแลดังกล่าว คือ http://www.industry.go.th และสปอ. มีแผนจะสร้างโฮมเพจของแต่ละกอง แต่ละ สอจ. ในแต่ละจังหวัดมาต่อแทรกได้ในโฮมเพจนี้ต่อไป

ขอทราบปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินโครงการไอทีของ สปอ.

1) เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน่วยงานในสังกัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากต่อการรวบรวมแผนของทุกหน่วยงาน ทำให้มีปัญหาในเรื่องการจัดทำแผนรวมของกระทรวงอุตสาหกรรม

2) ปัญหาเกี่ยวกับความชัดเจนในการกำหนดตำแหน่ง และความรับผิดชอบของ CIO ในหน่วยงาน เนื่องจากไม่มีการปรับปรุงโครงสร้าง และสายงานการบริหารที่สำนักงาน ก.พ. ควรกำหนดเป็นแม่แบบให้ส่วนราชการมีเพื่อให้เกิดการบริหารสั่งการที่ชัดเจน และหากให้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไอทีมาเป็น CIO จะทำให้การบริหารงานไอทีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3) ปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ขององค์กรส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดิมๆ ไม่ชอบใช้อุปกรณ์ไอทีมากนัก ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้นาน จึงยังต้องขึ้นกับงานเอกสารกระดาษจำนวนมากเป็นหลักฐานอ้างอิงการบัญชา สั่งการและรายงานผลปฏิบัติงาน รวมถึงเอกสารเวียนเพื่อทราบ

4) ปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไอที ปัจจุบันได้แก้ไขโดยจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วของศูนย์ข้อมูล สศอ. และการยืมตัวราชการจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ที่พอจะมีความรู้ หรือสนใจด้านนี้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสปอ.มาช่วยตรงส่วนนี้ ซึ่งต่อไปทางสปอ.จะขอใช้ตำแหน่งคนที่เกษียณมาเสริมเพื่อรับบุคลากรด้านไอที มาช่วยงานด้านไอทีตามแนวทางของแผนแม่บทฯ ต่อไป

โครงการไอทีของ อก. ที่นับว่าเป็น Master piece ในสายตาของท่านคืออะไร ?

การใช้ Executive Information System (EIS) สำหรับการบริหารงาน การติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างกองต่างๆ รวมถึงรัฐมนตรีสามารถใช้ข้อมูลที่มีช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารและการใช้สื่อสารดาวเทียมของกรมโรงงาน และการบริการข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตของทุกกรม นอกจากนี้ยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนของ สปอ. เอง คือ การติดตั้งและการใช้อินเตอร์เน็ตในสำนักงานอุตสาหกรรม (สอจ.) 75 จังหวัด โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการทดสอบการใช้โดยให้มีการรายงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่อไปในส่วนภูมิภาค และส่วนกลางสามารถติดต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วอันจะเป็นผลให้การให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ชุมชมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงความต้องการทำให้ทุกกอง ทุกสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสร้างโฮมเพจและเป็นผู้บริหารจัดทำศูนย์และให้บริการข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง

ปัญหา Y2K ของ สปอ. ในขณะนี้มีสถานภาพเป็นอย่างไร ?

สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ Y2K กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีคณะกรรมการเฉพาะ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบให้ อีกส่วนหนึ่งยังคงค้างเรื่องของระบบโทรศัพท์เกือบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ได้เตรียมแผนฉุกเฉินรองรับในกรณีที่เกิดปัญหาในช่วงต้นปี ค.ศ. 2000 คือเตรียมพร้อมดำเนินการด้วยแรงงานของบุคลากร และเตรียมสำรองการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการด้วยเงินสด

การให้บริการต่างๆ ของ สปอ. มีอะไรบ้าง ?

ปัจจุบัน สปอ. ได้เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านทาง web site ของศูนย์ข้อมูล อก. ซึ่งดูแลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ www.industry.go.th และกำลังติดตั้งโทรศัพท์สายด่วนกับบริการรับ-ตอบอัตโนมัติสำหรับผู้ขอรับบริการเร็ว ส่วนในภูมิภาค ขณะนี้กว่า 35 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) แล้ว ซึ่งสามารถเข้าสูโฮมเพจได้ทั่วโลกและจะให้มีทั่วทุกจังหวัดภายในปีงบประมาณนี้

ท่านมีคติพจน์/หลักในการทำงานอย่างไร ?

ติดตามความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทันการณ์ ไม่อคติต่อวิชาการใหม่ๆ โดยใช้วิจารณญาณของตนเองอย่างรอบคอบก่อนประยุกต์ใช้

ฝากถึง CIO หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ?

    1. ในกรณีที่ CIO มีปัญหาภาคปฏิบัติด้านประมาณและทำแผนฯ ให้เกิดผลทางปฏิบัติ ต้องการให้มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ เช่น เนคเทคและสำนักงาน ก.พ. นำปัญหาดังกล่าวเข้าเสนอต่อ ครม. เป็นต้น
    2. เร่งแก้ไขปัญหาการยอมรับบทบาทหน้าที่ของ CIO ในองค์กรเพราะโครงสร้างของรัฐในปัจจุบันนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับงาน CIO เท่าที่ควร
    3. ควรสรรหาคนที่เหมาะสมมาเป็น CIO เพื่อเอื้อต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเน้นความสำคัญของแผนการดำเนินงาน หรือนโยบายที่มีความต่อเนื่องโดยไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่ให้ความสำคัญต่อระบบที่ให้ได้บุคคลที่เหมาะสมมาสืบต่อภาระกิจ ให้สัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ควรมีหน่วยงานที่คอยติดตามประเมินผลอย่างจริงจังและต่อเนื่องและเห็นว่าเนคเทคและ ก.พ. กับสำนักงบประมาณควรทำหน้าที่นี้ให้เข้มแข็งต่อไป
    4. CIO ควรมีโอกาสพบปะกันบ่อยๆ ปรับกระบวนการสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลภาครัฐ ระหว่างหน่วยงานตนเอง กับหน่วยงานของตนเองกับหน่วยงานอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น