IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายวิรัช ดำรงผล
รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งต่อส่วนราชการด้วยกันเองและต่อประชาชน บทบาทที่มีต่อส่วนราชการด้วยกันเอง ได้แก่ การเป็นผู้รักษาระเบียบปฏิบัติต่างๆ เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุที่ใช้ในส่วนราชการ ส่วนบทบาทหรือบริการที่ให้แก่ประชาชน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องผลผลิตหรือ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติงานของทางราชการ บทสัมภาษณ์ของ CIO ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านวิรัช ดำรงผล คงพอจะสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงาน ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะด้านไอที อาทิเช่น วิสัยทัศน์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถานภาพในการจัดทำแผนแม่บทไอที ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และหัวข้อสนทนาอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

ขอทราบวิสัยทัศน์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

วิสัยทัศน์ (vision) ด้านการพัฒนาและจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คงจะต้องกล่าวถึง ทั้งในฐานะที่เป็นกระทรวง สำนักนายกรัฐมนตรีที่มีหลายๆ กรมในสังกัด และในฐานะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเหมือนกรมๆ หนึ่ง ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาและจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.)

ในปัจจุบันการพัฒนาทางด้านไอที มีความก้าวหน้ารวดเร็วมาก สำนักนายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพราะเรามีทั้งในส่วนที่ติดต่อกับประชาชนและส่วนราชการ ในส่วนของประชาชนจะเป็นเรื่องเงินกู้และการไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนราชการคือเรื่องระเบียบ ที่ว่าด้วยการพัสดุและงานสารบรรณ ไอทีจึงจำเป็นถ้านำมาใช้ได้ก็มีประโยชน์ เรามองไปข้างหน้าในเรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการของสำนักนายกรัฐมนตรี มีประสิทธิภาพมากและเอกภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการประสานการกำหนดนโยบายการวางแผนระดับชาติ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และการให้บริการข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนทั่วไป คาดว่าหากงบประมาณพร้อมในปี 2544 ควรจะแล้วเสร็จ ดำเนินการได้

2. วิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาและจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

เมื่อแผนเทคโนโลยีสารสนเทศในระยะ 4 ปี เสร็จสิ้นแล้ว สปน. จะมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการบริหาร และประสานงานของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นหน่วยงานกลางในการกำกับ แนะนำ ส่งเสริม ประสานและสนับสนุนการบริหารราชการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในด้านความเป็นธรรม และแก้ไขความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการ ในการรับเรื่องร้องเรียนมาแก้ไข ในด้านการบรรเทาความเดือดร้อนที่ราษฎรได้รับ เช่น การให้เงินกู้ยืมแก่เกษตรกรเพื่อไปไถ่ถอน การจำนองที่ดินที่กำลังจะถูกยึด ส่งเสริมการเป็นแหล่งข้อมูลกลาง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการแก่สาธารณชน เพื่อเสริมสร้างสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารงาน และการดำเนินการของรัฐ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลียนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกสำนักงาน อีกด้วย

สถานภาพในการจัดทำแผนแม่บทไอทีของหน่วยงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร ?

  • สปน. ได้ว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. และได้ส่งแผนแม่บทดังกล่าวให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการจัดหาตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2534 และได้ส่งแผนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541

    ต่อมา สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2541 โดยให้ CIO หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ต้องลงนามรับรองแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ สำนักงบประมาณจึงได้ส่งเรื่องกลับมาให้ สปน. ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว CIO ประจำ สปน. ได้ลงนามรับรองแผนดังกล่าว และส่งให้สำนักงบ-ประมาณพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
  • แผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
    • วัตถุประสงค์ - เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. ให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน ครอบคลุม สำหรับสนับสนุนภารกิจของ สปน. ทั้งระดับผู้ปฏิบัติและระดับผู้บริหาร ตลอดจนสามารถให้บริการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลโดยทั่วไป โดยการเลือกสรรเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเหมาะสม มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการของ สปน. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทิศทางเดียวกัน และสร้างเครือข่ายหลักสำหรับเชื่อมโยงเครือข่ายภายใน สปน. และเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก สปน. รวมทั้งการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Internet รวมทั้งพัฒนาบุคลากรผู้ดูแลระบบให้สามารถดูแลระบบและออกแบบ ที่เหมาะสมได้เอง และพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการใช้งานต่อไปได้
    • เป้าหมาย
      • เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลกลางสำหรับสายงาน 10 สายงาน ครอบคลุมภารกิจของ สปน. รวมทั้งสิ้น 39 ฐานข้อมูล (ระบบงาน)
      • ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ตามหน่วยงานภายใน สปน. ทุกหน่วยงาน เพื่อให้เพียงพอต่อ การปฏิบัติตามภารกิจของหน่วยงาน และให้สามารถประสานการเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      • จัดทำและติดตั้งซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่สามารถตอบสนอง ความต้องการข้อมูลสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในทุกระดับ ครบถ้วนทั้ง 10 สายงาน
      • สามารถให้บริการตอบสนองความต้องการแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว
    • ระยะเวลาดำเนินการ - 4 ปี (ตามแผนกำหนดไว้ว่าจะดำเนินการตั้งแต่ ปี 2542-2544 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสำนักงบประมาณยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่ปี 2544-2547)

แผนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใน 1 ปีข้างหน้า (ปี 2543) เป็นอย่างไร ?

สปน. ได้ขอตั้งงบประมาณปี 2542 และ 2543 เพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. แต่ไม่ได้รับจัดสรร อย่างไรก็ตาม สปน. ได้ทำการโอนเงินงบประมาณประจำปี 2542 ในส่วนอื่นๆ มาดำเนินการจัดวางระบบเครือข่าย Internet และศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สปน. โดยดำเนินการเชื่อมโยงจากระบบเครือข่าย Internet ของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมายัง สปน. โดยในระยะแรกนี้จะประกอบด้วยเครื่องแม่ข่ายและเครื่องลูกข่าย จำนวน 5 เครื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสื่อประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคเอดส์และข้อมูลข่าวสารของราชการตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทางระบบเครือข่าย Internet รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สามารถใช้งานระบบเครือข่าย Internet ได้ด้วย และขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้วเรียร้อยแล้ว

สำรับในปีงบแระมาณ 2543 นี้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเจียดจ่ายเงินในส่วนใดมาดำเนินการเพิ่มเติมได้บ้าง

ปัจจุบันหน่วยงานของท่านได้นำไอทีมาใช้ในส่วนงานใดบ้าง ?

ปัจจุบันสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีการใช้งานในลักษณะของระบบฐานข้อมูลบ้างแต่ ไม่มากนัก เช่น ระบบงานรับส่งหนังสือของกองกลางและสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง (สกร.) ซึ่งดูแลกฎหมายและระเบียบต่างๆ, ระบบการจัดเก็บประวัติข้าราชการของกองการเจ้าหน้าที่, ระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับสตรีของสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (สกส.) และระบบงานเกี่ยวกับสถิติอุบัติภัยและกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (สปอ.) เป็นต้น

สำหรับการใช้งานในระบบเครือข่าย นั้น ปัจจุบันมีที่ สกส. และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ซึ่งเป็นเครือข่ายภายในของทั้ง 2 หน่วยงาน ประกอบด้วยเครื่องแม่ข่าย และเครื่องลูกข่าย 2-3 เครื่อง ใช้สำหรับจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล รวมทั้งการใช้งานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของเจ้าหน้าที่ ส่วนการใช้งานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางระบบเครือข่าย Internet ปัจจุบันมีที่ สกส. และ สปอ. โดยการสมัครเป็นสมาชิกกับ NECTEC

ปัญหาและอุปสรรคของการใช้ไอทีในหน่วยงานคืออะไร และท่านมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร

ปัญหา

  • การไม่ได้รับงบประมาณตามที่เสนอไป - แต่ละกอง/สำนัก ตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์กันอย่างอิสระ ไม่มีหน่วยงาน กลางคอยควบคุมดูแลให้การจัดซื้อเป็นไปอย่างมีเอกภาพและสามารถนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ความสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ของผู้คนรุ่นก่อนๆ นี้ โดยทั่วไปมีน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักเห็นว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  • สปน. จะดำเนินการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศ ขณะนี้ได้แก้ปัญหาโดยใช้วิธีโอนเงินงบประมาณบางส่วน และใช้เงินอื่นๆ มาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความเร่งด่วนไปบางส่วนก่อน
  • ปัจจุบัน สปน. มีศูนย์พัฒนาระบบและข้อมูลสารสนเทศในสำนักนโยบายและแผน ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน. ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. และหน่วยงานต่างๆ จะไม่สามารถตั้งงบประมาณและจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างอิสระ เพราะต้องให้ CIO รับรองก่อน

ขอทราบ Website การบริการต่างๆ ของหน่วยงานที่มีบนอินเทอร์เน็ตว่ามีบริการอะไรบ้าง ?

  • Website ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี http://www.thaigov.go.th
  • Website ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ คือ http://www.nsc.thaigov.go.th
  • Website ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ http://www.inet.co.th/org/tncwa

    การให้บริการส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างไอทีของภาครัฐอย่างไร และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ?

การจัดซื้อจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในราชการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 4 ฉบับ ซึ่งระเบียบได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้รัดกุมและเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาในทางปฏิบัติที่สำคัญ คือ การกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องของไอทีซึ่งมีความหลากหลายและมีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะให้เป็นประโยชน์แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ง่าย ซึ่งในเรื่องนี้ สำนักกฎหมายและระเบียบกลางกำลังหาวิธีการเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น

เรื่อง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ สปน. เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด และมีการดำเนินการในส่วนนี้อย่างไร ?

ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นั้น สปน. มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและเกี่ยวข้อง รวม 2 กรณี คือ

  1. งานของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนักงานในสังกัด สปน. รับผิดชอบเกี่ยวกับงานวิชาการและธุรการ ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ของราชการและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยช้อมูลข่าวสาร ประกอบด้วยผู้ชำนาญการ/ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ

    งานของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการค่อนข้างหลากหลายและต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยงาน แต่เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การดำเนินการต่างๆ ทางด้านไอที ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบสารสนเทศของ สปน. จึงยังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ ทั้งนี้ได้ของบประมาณงบกลางปี 2542 และงบประมาณที่ได้รับปี 2542 ดำเนินการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้แก่ 1) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สำหรับการใช้งานในสำนักงาน 2) ระบบการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ในวงเงิน 2.4 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องจัดเก็บเอกสาร และคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเครือข่าย
  2. งานการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารราชการของ สปน. ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ. และได้ดำเนินการจัดระบบข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ สปน. ได้จัดซื้อเครื่องจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถจัดเก็บเอกสารได้เป็นจำนวนมากพร้อมกับสามารถค้นหาได้ ด้วยความรวดเร็วมาไว้บริการแก่ประชาชน พร้อมกับจัดทำระบบ Internet เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอีกด้วย ขณะนี้ดำเนินการติดตั้งในส่วนของ Hardware เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในเดือนธันวาคม 2542

ท่านมีคติพจน์หรือหลักในการทำงานอย่างไร ?

หลักสำคัญคือ การทำงานที่เป็นระบบ งานทุกอย่างต้องมีการวางแผน จะต้องศึกษา พิจารณา จุดมุ่งหมายของงาน ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวเนื่องของงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราถูกต้องเสมอ

อีกประการ คือ การเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี และเป็นผู้ใต้บังคัญบัญชาที่ดีในเวลาเดียวกัน

ท่านมีอะไรจะฝากไปถึง CIO ท่านอื่นๆ อย่างไร ?

งานไอทีเป็นงานที่พัฒนาโดยรวดเร็ว การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันจึงมีความสำคัญมาก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านไอที รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ มีความพร้อมไม่เท่ากัน การแลกเปลี่ยนความรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันจะทำให้การพัฒนาไอทีของเราทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น หากเป็นไปได้จะพยายามผลักดันให้มีการช่วยเหลือกันระหว่างหน่วยงาน โดยอยากจะให้ CIO มีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดและถือเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสานงานกันโดยสม่ำเสมอ ซึ่งจะได้หารือกับ CIO ท่านอื่นๆ ต่อไป

จากการที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ทำให้ต้องพยายามใส่ใจในส่วนของไอทีเพิ่มมากขึ้น และได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต และ E-mail ที่นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีคุณประโยชน์นานาประการที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข สนุก และมีผลงาน ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งประหยัดอีกมาก อาทิ การส่งจดหมาย ส่งรายงาน ส่งแบบฟร์อม ครั้งละหลายๆ หน้า ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งลดลงเกือบครึ่ง ปีละหลายหมื่นบาท

นอกจากนี้ ในการนัดหมายต่างๆ หากส่งทาง E-mail จะรวดเร็วปลอดภัยและได้ผล ข้อความไม่ขยายไม่เพี้ยน หรือหากต้องการทราบข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ Internet ติดตามข่าวสารได้แทบทุกชนิดทุกวันและสะดวกรวดเร็วอีกด้วย