IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายสุดจิต นิมิตกุล
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศอีกทั้งยัง มีบทบาทสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนอีกด้วย เพราะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย ของกระทรวงมหาดไทย ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทมหาดไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 กองบรรณาธิการได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านสุดจิต นิมิตกุล รองปลัดและ CIO กระทรวงมหาดไทย ผู้ซึ่งดูแลนโยบายของ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการผลักดันไอทีมาใช้ในการพัฒนางานต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นต่อไป

ขอทราบวิสัยทัศน์ไอทีของกระทรวงมหาดไทย

ปัจจุบันเป็นยุคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงาน ที่จะนำไอทีมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถรองรับจัดการกับปัญหาความต้องการ ของประชาชนในเรื่องต่างๆ ที่นับวันจะมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่กระทรวงมหาดไทย ได้ริเริ่มว่าจ้างให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนหน้าที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนดังกล่าวในปี 2541

แต่เนื่องจากไอทีเป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากและมีการลงทุนสูง การนำไอทีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อให้มองเห็นทิศทางในภาพรวมขององค์กรว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายในระดับรองลงมา และแนวทางการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน

กระทรวงมหาดไทยได้มองภาพของการพัฒนาไอทีในระยะ 10 ปีข้างหน้าว่าควรจะเป็นดังนี้

  1. กระทรวงมหาดไทยมีระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงาน และการวางแผนเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยที่ข้อมูลต่างๆ ในระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
  2. มีการประยุกต์ใช้ไอทีกระจายครอบคลุมไปถึงหน่วยการปกครองระดับอำเภอ ตำบลและท้องถิ่น เพื่อกระจายความรับผิดชอบ ในการจัดการข้อมูลในระดับพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงและเป็นปัจจุบันมากที่สุด
  3. ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถที่จะรับทราบข้อมูลข่าวสาร จากระบบสารสนเทศของกระทรวงมหาดไทย ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถที่จะสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการทราบได้ด้วยตนเองจาก ระบบสารสนเทศที่มีการพัฒนาให้ง่ายต่อการใช้มากที่สุด แม้แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะใช้ได้
  4. บุคลากรในกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ผู้ปฏิบัติไปจนถึงผู้บริหารทุกระดับมีความรู้ความสามารถ และความเข้าใจในการใช้ไอทีเป็นอย่างดี สามารถที่จะรองรับการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับเทคโนโลยีที่ลงทุนไป

ปัญหาและอุปสรรคของการใช้ไอทีของหน่วยงานคืออะไร และท่านมีกลยุทธในการแก้ไขปัญหาอย่างไร

1. ด้านข้อมูล

เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีขอบเขตภารกิจงานกว้างขวาง จึงมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกสังกัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องของมาตรฐานข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เช่น นิยามของข้อมูล, รหัสมาตรฐานข้อมูล ทำให้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และมีความขัดแย้งของข้อมูล

2. ด้านการพัฒนาระบบ

2.1 การวิเคราะห์และออกแบบระบบ เนื่องจากการกำหนดความต้องการไม่ชัดเจน ประกอบ กับมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือผู้ปฎิบัติงานทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ และออกแบบระบบได้ชัดเจนและตรงตามความต้องการใช้งาน

2.2 ขาดการประสานการพัฒนาระบบร่วมกัน ทำให้แต่ละหน่วยงานต้องเสียเวลาในการพัฒนา สิ้นเปลืองทรัพยากรและประสบปัญหาในการพัฒนา

2.3 ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยยังมีอีกเป็นจำนวน มากที่เป็นรุ่นเก่าและล้าสมัย เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณในการจัดซื้อ จัดหาทำให้ไม่สามารถใช้งานโปรแกรมรุ่นใหม่ๆ ทีมีประสิทธิภาพสูงกว่าได้

2.4 ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีทั้งในระดับผู้ใช้และผู้พัฒนาระบบ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณในการฝึกอบรม สถานที่ที่จะใช้ฝึกอบรม

3. ด้านงบประมาณ

งบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอต่อความต้องการในการจัดหาอุปกรณ์ระบบเครือข่าย โปรแกรมสำเร็จรูป การจัดจ้างเพื่อพัฒนาโปรแกรม และที่ปรึกษาช่วยในการศึกษาวางระบบงาน นอกจากนี้ รัฐบาล และหน่วยงานยังไม่ให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (Implement) และการบำรุงรักษา (Maintenance) อุปกรณ์ และระบบงานประยุกต์ จึงทำให้ภาคเอกชนไม่ให้ความสำคัญในการลงทุนในด้านนี้ ซึ่งมีปัญหามากกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่ไม่มีโอกาส และทางเลือกใช้บริการที่ดีมากนัก

4. ด้านการบริหารและการประสานการดำเนินงาน

ยังขาดการประสานความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การพัฒนาด้านไอทีขาด ความต่อเนื่องและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

5. กลยุทธในการแก้ไขปัญหา

กระทรวงมหาดไทยตระหนักดีถึงปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมาจึงได้ริเริ่มที่จะจัดทำแผนไอทีของกระทรวงมหาดไทยขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เพื่อมองการพัฒนาไอทีในภาพรวมของกระทรวง ให้ชัดเจนก่อนว่า แต่ละหน่วยงานได้นำไอทีมาใช้งานอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง และจะต้องดำเนินการในเรื่องใดบ้าง โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการไอทีระดับกระทรวง ให้ความเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะดำเนินการให้สำเร็จได้ยาก เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณสูง รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทย ได้ยึดแนวทางดำเนินการตามแผนดังกล่าว เป็นหลักในการนำไอทีมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้ให้เกิดปัญหาอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก

โครงการไอทีของกระทรวงมหาดไทยที่นับว่าเป็น Master piece ในสายตาของท่านคืออะไร

โครงการจัดทำทะเบียนราษฎร์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน ทางด้านการทะเบียนให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง สวยงามและสามารถป้องกันการทุจริตได้ ตัวอย่างเช่น การออกบัตรประจำตัวประชาชนรูปแบบใหม่ให้เสร็จสิ้น ณ สำนักทะเบียนเขต/อำเภอ/ท้องถิ่น ประชาชนสามารถรับบัตรได้ภายใน 15 นาที นอกจากนี้ยังสามารถนำไปช่วย ในการจัดเก็บภาษีรายได้ของท้องถิ่นและรัฐบาล ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา, การเลือกตั้ง, งานด้านป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น

ในปัจจุบันมีฐานข้อมูลหลักๆ ที่เปิดให้หน่วยงานภายนอกใช้บริการหรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยได้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานภายนอก โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

  1. Internet ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลกระทรวงมหาดไทยได้ โดยเรียกจาก www.moi.go.th ให้บริการแก่หน่วยงานและบุคคลทั่วไป
  2. บริการข้อมูลเพื่อการบริหารและการวางแผนผ่านระบบ On-line ซึ่งกระทรวงมหาดไทยบริการข้อมูลที่จำเป็นแก่การใช้งานแก่ผู้บริหาร และนักวางแผนของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานที่ขอความร่วมมือมา แต่ระบบนี้ยังมีปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการให้บริการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนามาหลายปีแล้ว จึงยังใช้เทคโนโลยีเก่า และอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมมีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบ ไว้ในแผนไอทีของกระทรวงมหาดไทย เพื่อปรับปรุงข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว

ตามที่ได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ CIO เรื่อง “ระบบฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพของ ภาครัฐ” ในฐานะที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และเป็นเจ้าของข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ขอทราบแนวคิดของท่านในเรื่องนี้

การที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ขึ้น จนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน นับว่าเป็นการวางพื้นฐานของการมีระบบฐานข้อมูล ที่เป็นเอกภาพของภาครัฐ เนื่องจากทุกหน่วยงานสามารถที่จะเชื่อมโยง หรือขอใช้ข้อมูลประชากรจากฐานข้อมูลดังกล่าวได้ โดยที่กรมการปกครองรับผิดชอบงานทะเบียนราษฎร์ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับจังหวัด จึงเป็นเจ้าของข้อมูลที่ถูกต้องทั้งตามกฎหมาย และตามข้อเท็จจริงซึ่งมีการ update ข้อมูลเกิดขึ้นทุกวัน หากไม่มีระบบฐานข้อมูลนี้และปล่อยให้แต่ละหน่วยงานสร้างฐานข้อมูลของตนเองขึ้นมา ย่อมจะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อน ความขัดแย้งของข้อมูล ตลอดจนสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ในทางปฏิบัติแล้วทุกหน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูลประชากร ควรจะขอเชื่อมโยง หรือขอใช้จากกรมการปกครอง และนำไปประยุกต์ใช้หรือวิเคราะห์ใช้ให้เหมาะสม กับลักษณะงานของหน่วยงานนั้นๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานในภาครัฐควรจะร่วมกันพิจารณาว่าฐานข้อมูลเรื่องใดที่เป็นข้อมูลกลางที่ใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ และมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมอบงบประมาณให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง พัฒนาระบบฐานข้อมูลดังกล่าว โดยกำหนดไว้ในแผนไอทีของกระทรวงให้ชัดเจน และควรที่จะมีแผนไอทีระดับชาติ เพื่อพิจารณาภาพรวมของ แต่ละกระทรวงอีกชั้นหนึ่ง

ระบบ GIS เข้ามามีบทบาทต่อกระทรวงมหาดไทยมากน้อยเพียงใด และได้นำไปใช้ในส่วนใดบ้าง

กระทรวงมหาดไทยมีขอบเขตภารกิจงานที่กว้างขวางครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นการยากที่จะผู้บริหาร หรือนักวางแผนจะสามารถมองเห็นสภาพข้อเท็จจริง เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานหรือการวางแผนได้ จึงจำเป็นที่จะต้องนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) มาช่วยจำลองภาพหรือสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหาร นักวางแผน และผู้ปฏิบัติสามารถมองเห็นข้อมูลในรูปแผนที่/แผนผัง โดยการนำข้อมูลภูมิศาสตร์ อันประกอบด้วย ข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย (ตัวเลขและตัวหนังสือที่อธิบายคุณลักษณะของข้อมูลเชิงพื้นที่) มาวิเคราะห์ใช้งานร่วมกันและจัดเก็บในรูปของฐานข้อมูล (Data Base) นำไปสู่การกำหนดนโยบาย วางแผน พัฒนาและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับการนำไปใช้งานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีทางด้าน GIS ไปใช้ในการปฏิบัติงานแล้วหลายหน่วยงาน อย่าง ตัวอย่างเช่น

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ในการเสนอแนะ นโยบายของกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการบริหารของกระทรวงฯ เป็นหลัก จึงมองเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี GIS และได้นำมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานวางแผนพัฒนาจังหวัด ในระยะแรกได้ทำการศึกษาเพื่อนำระบบ GIS มาใช้ในการวางแผนพัฒนาจังหวัดในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จำนวน 4 เรื่อง คือ เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ถนน การขยายโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาการใช้ที่ดิน โดยกำหนดให้ใช้พื้นที่ของจังหวัด 3 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี สุรินทร์ และจังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่ศึกษานำร่อง ขณะนี้ผลการศึกษาเพื่อนำระบบ GIS มาใช้ในการวางแผนพัฒนาจังหวัด ทั้ง 4 เรื่อง ได้ศึกษาเสร็จแล้วและได้ส่งมอบให้จังหวัดนำร่องทั้ง 3 จังหวัดใช้ประโยชน์แล้ว ทำให้จังหวัดมีเครื่องมือช่วยในการวางแผนพัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากความสำเร็จในการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Natural Resources and Environmental Management : NREM Project) ซึ่งเป็น โครงการที่รัฐบาลแคนาดาโดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแคนาดา (Canadian International Development Agency : CIDA) ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทย ได้ปรับปรุงฐานข้อมูลที่นำมาจากกรม ส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก มหาสารคาม อุบลราชธานี กาญจนบุรี นครนายก พังงา และจังหวัดตรัง ให้สามารถใช้งานกับโครงสร้างฐานข้อมูลที่จัดทำโดยโครงการ NREM เพื่อนำไปใช้การจัดทำ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ยั่งยืน” ตามมติของคณะกรรมการบริหารโครงการ NREM คณะอนุกรรมการประสานและการวางแผนพัฒนาจังหวัด (อผจ.) และคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท (กนภ.)

กรมการปกครอง ได้นำเทคโนโลยี GIS ไปใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพากรในเขต เทศบาล โดยได้จัดทำโครงการนำร่องที่เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

กรมการผังเมือง นำเทคโนโลยี GIS ไปใช้ในการวางและจัดทำผังภาค วางและจัดทำผังโครงสร้าง จังหวัดผังพัฒนาชนบทระดับตำบล หมู่บ้าน การวางและจัดทำผังเฉพาะกิจ พัฒนาเมืองและจัดตั้งและขยายเขตเทศบาล เป็นต้น

กรมที่ดิน นำเทคโนโลยี GIS ไปใช้ในการนำเข้าข้อมูลแผนที่ให้อยู่ในรูปดิจิตอล เพื่อเชื่อมฐานข้อมูล กรรมสิทธิ์ที่ดินกับข้อมูลแผนที่ ใช้ในการย้ายรูปแปลงจาก น.ส. 3ก ให้เป็นระบบพิกัดแบบ UTM เป็นต้น

ในส่วนของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงฯ ก็มีหลายหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าในการนำเอาระบบ GIS ไปใช้ในการปฏิบัติงานและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ยกตัวอย่างเช่น การไฟฟ้านครหลวง นำเทคโนโลยี GIS มาใช้ในการผลิตแผนที่ ใช้โครงการจัดทำระบบแผนที่และข้อมูลสนเทศระบบจำหน่ายไฟฟ้า GIS/AM/FM ใช้ในระบบงานคาดคะเนความต้องการใช้ไฟฟ้าและการควบคุมดูแลระบบไฟฟ้า (Maintenance) และใช้ในระบบงานสาธารณูปโภค ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลแผนที่ มาตราส่วน 1:1,000 ในเขตปริมณฑล ในเรื่องระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์ที่สุด และในส่วนของหน่วยงานอิสระที่สังกัดกระทรวงฯ คือ กรุงเทพมหานคร ก็ได้จัดทำแผนที่ในมาตราส่วน 1:1,000 เพื่อใช้ในภารกิจของกรุงเทพฯ เอง และส่วนหนึ่งก็ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงด้วย

จากตัวอย่างการนำเทคโนโลยี GIS ไปใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นระบบที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย จึงพยายามใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ที่หน่วยงานต่าง ๆ รวบรวมไว้แล้วให้มากที่สุด เช่น ข้อมูลแผนที่ทหาร 1:50,000 หรือข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค.) ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เพื่อให้เกิดความประหยัด ไม่ซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ สามารถปรับปรุงแก้ไขและประมวลข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง

จากการระดมสมอง CIO รุ่นที่ 7 ได้มีข้อเสนอแนวคิดเรื่อง “Simple IT for local people” ขอทราบความคิดเห็นในเรื่องนี้

ในฐานะที่กระทรวงมหาดไทยมีหน่วยงานครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้านตำบล จึงให้ความสนใจที่จะเผยแพร่บริการข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้ลงไปถึงประชาชนด้วยวิธีการที่เร็วและง่ายที่สุด โดยเห็นว่าปัจจุบันการพัฒนาด้านไอทีมีความรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีความง่ายต่อการใช้ (User Friendly) มากขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจจะนำจุดเด่นในเรื่องนี้มาช่วยในการบริการข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น เช่น อาจจะจัดให้มีคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลข่าวสารประจำวัน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ ข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้า ข้อมูลเพื่อการลงทุน ข้อมูลเส้นทางคมนาคม ฯลฯ ไว้สำหรับให้บริการประชาชน ณ จุดต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น อาจจะเป็นศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งประชาชนที่มาติดต่อรับบริการเรื่องอื่นๆ สามารถที่จะใช้เวลาว่างในการสืบค้นข้อมูล ที่ต้องการจากคอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาระบบให้มีความง่ายต่อการใช้ จนแม้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลย ก็สามารถที่จะกดปุ่มใช้งานได้ เช่น ออกแบบให้คล้ายๆ กับตู้เพลงที่ผู้ฟังสามารถเลือกเพลงที่ต้องการฟังได้ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการบริการประชาชนรูปแบบหนึ่งแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนหรือนักเรียนนักศึกษาที่มาใช้บริการ รู้สึกคุ้นเคยกับไอทีมากขึ้นจนไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ห่างไกลกับชีวิตประจำวันของตน

ท่านคิดว่าจำเป็นต้องมี CIO ของจังหวัดหรือไม่ ถ้ามีท่านคิดว่าควรไปในทิศทางใด

ปัจจุบันในระดับจังหวัดยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนพัฒนาไอทีของจังหวัดโดยตรง หน่วยงานต่างๆ ได้นำไอทีมาใช้งานอย่างขาดระเบียบและไม่เป็นระบบขึ้นอยู่กับนโยบายจากส่วนกลางและความต้องการของผู้บริหารในหน่วยงานนั้นๆ เป็นหลัก หากปล่อยให้เป็น เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนในการพัฒนาระบบ และความไม่สอดคล้องกันของระบบ ทั้งในเรื่องของข้อมูลและอุปกรณ์ด้านฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ และทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการลงทุนไปโดยไม่คุ้มค่า แม้ว่าในระยะแรกของการจัดทำแผนไอทีของจังหวัด จะผนวกไว้ในแผนไอทีของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ยังขาดความชัดเจนเพียงพอ และจะมีลักษณะเดียวกันในทุกจังหวัด ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วแต่ละจังหวัด อาจจะมีความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ แตกต่างกันไปตามนโยบายของผู้บริหารและสภาพพื้นที่ เช่น บางจังหวัดอาจจะเน้นระบบสารสนเทศด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่บางจังหวัดอาจจะเน้นระบบสารสนเทศด้านการเกษตร เป็นต้น

ดังนั้น แต่ละจังหวัดจึงควรที่จะต้องมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาไอทีของตนเองในลักษณะคล้ายๆ กับแผนลงทุนจังหวัด โดยมีผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการด้านไอทีที่ชัดเจน เพื่อให้การพัฒนาไอทีของจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับ จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหาร และต้องมีเวลาเพียงพอที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งควรจะเป็น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่รับผิดชอบด้านแผน เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างในระดับกระทรวง ซึ่งมอบให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายนโยบายและแผนเป็น CIO ของกระทรวง โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านไอทีของจังหวัด และคณะกรรมการไอทีของจังหวัดในลักษณะคล้ายๆ กับโครงสร้างระดับกระทรวง

ในคณะทำงานด้านไอทีของจังหวัดอาจจะมีการแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านการประสาน จัดการข้อมูล ด้านเทคนิค ด้านเครือข่ายสื่อสาร ด้าน GIS เป็นต้น โดยคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดร่วมเป็นคณะทำงาน และขอผู้ทรงคุณวุฒิจากสถานศึกษาในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง เช่น สถาบันราชภัฏ สถาบันราชมงคล มหาวิทยาลัย ฯลฯ ร่วมเป็นคณะทำงานหรือที่ปรึกษา หรืออาจจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานในส่วนกลางให้มอบผู้แทนไปร่วมเป็นคณะทำงานหรือที่ปรึกษา ในลักษณะเดียวกับที่สำนัก งบประมาณและ สศช.ได้ส่งผู้แทนไปร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบแผนลงทุนจังหวัด เมื่อคณะทำงานได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการพัฒนาในแต่ละด้านได้แล้ว จึงเสนอให้คณะกรรมการไอทีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมาย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามแผนต่อไป โดยคณะกรรมการไอทีของจังหวัด จะประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสถานศึกษาเป็นที่ปรึกษา และจะต้องยึดถือแผนไอทีของจังหวัด เป็นแนวทางในการพัฒนาไอทีอย่างเคร่งครัด หากหน่วยงานใดไม่มีโครงการปรากฏอยู่ในแผนดังกล่าวแล้ว จังหวัดก็จะไม่เสนอคำของบประมาณให้ ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาไอทีของจังหวัดเป็นไปอย่างมีระบบ

ในฐานะของ CIO ท่านใช้ไอทีมากน้อยเพียงใด (ในการทำงานและชีวิตประจำวัน)

ทุกๆ วันจะต้องเปิด Internet เพื่ออ่านข้อมูลข่าวสารประจำวันและติดตามความก้าวหน้าด้าน ไอทีซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากจาก Website ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รับและตอบ E-Mail นอกจากนี้ยังค้นหาข้อมูลที่ต้องการผ่านระบบสารสนเทศของกระทรวงมหาดไทย เช่น ระบบ MIS เพื่อติดตามเหตุการณ์สำคัญประจำวัน

คติพจน์/หลักในการทำงาน

ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งไอทีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรจะให้ความสนใจและศึกษาไอทีไว้บ้าง อย่างน้อยก็สามารถที่จะใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน หรือการดำรงชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นอาจจะต้องเสียโอกาสบางอย่างไปในช่วงเวลาสำคัญไป เช่น มีคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลสำคัญบรรจุไว้ตั้งอยู่ตรงหน้า และจำเป็นจะต้องใช้ในขณะนั้น แต่ไม่สามารถเรียกออกมาใช้ได้ ทั้งที่ผู้พัฒนาได้พยายามออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายที่สุดแล้ว เพียงแค่รู้จักการคลิ้กเมาส์หรือกดปุ่ม Enter ก็เพียงพอแล้ว แต่ก็ยังใช้ไม่อุปกรณ์เหล่านี้ไม่เป็น ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดกับใครก็ได้ที่ไม่พยายามรู้จักกับไอที

ท่านมีอะไรจะฝากไปถึง CIO ท่านอื่นๆ อย่างไร

CIO นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไอทีภาครัฐ ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับ CIO ทุกท่านโดยเฉพาะในเรื่องของการประสานแผนไอทีของแต่ละหน่วยงานทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ รวมถึงต้องมีความอดทนและความพยายาม ค่อนข้างมากในการที่จะพัฒนาไอทีของแต่ละหน่วยงาน และในระดับประเทศในภาพรวมให้รุดหน้าไปอย่างมีเสถียรภาพและ CIO ทุกท่านก็จำเป็นที่จะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงของไอทีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรให้หน่วยงานสนใจและเรียนรู้ไอทีให้มากขึ้น

Website และการบริการต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย นำระบบสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลได้จาก Web Site "http://www.moi.go.th" โดยข้อมูลมหาดไทยที่เผยแพร่ประกอบด้วยข้อมูล ได้แก่ ประวัติกระทรวงมหาดไทย นโยบายและแผนกระทรวงมหาดไทย, การจัดองค์กรของกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน, รวมทั้งรายนามของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย, ข่าวมหาดไทย, Web Board, ท่านถาม-เราตอบ, บริการ download, ข้อมูลมหาดไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ บริการเชื่อมโยงไปยัง Web Site ของส่วนราชการอื่นๆ ทั้งในและนอกสังกัด สำหรับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็ได้จัดสร้าง Website เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป ดังนี้

  • กรมการปกครอง - http://www.dola.go.th
  • กรมการผังเมือง - http://www.dtcp.go.th
  • กรมการพัฒนาชุมชน - http://www.cdd.moi.go.th
  • กรมที่ดิน - http://www.dol.moi.go.th
  • กรมโยธาธิการ - http://www.pwd.go.th
  • กรมราชทัณฑ์ - http://www.thaicorrect.moi.go.th
  • สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท - http://www.ardmoi.go.th
  • การไฟฟ้านครหลวง - http://www.mea.or.th
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค - http://www.pea.or.th
  • การประปานครหลวง - http://www.mwa.or.th
  • การประปาส่วนภูมิภาค - http://pwa.thaigov.net
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย - http://www.eta.or.th
  • การเคหะแห่งชาติ - http://www.nhanet.or.th