IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นายวันชาติ ศุภจัตุรัส
รองปลัดกรุงเทพมหานคร
สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร

กองบรรณาธิการได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านวันชาติ ศุภจัตุรัส ระหว่างการเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ โรงแรมทวาราวดี จ.ปราจีนบุรี เกี่ยวกับความคิดเห็นและการดำเนินงานด้านไอที ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจมากทีเดียว

วิสัยทัศน์ด้านไอทีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) คืออะไร ?

ในฐานะราชการส่วนท้องถิ่นนครหลวง สิ่งที่เราควรจะมีในอนาคต คือการประสานงานการทำงานและส่วนข้อมูลเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องการทำงานซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน งานของกทม. ไม่เหมือนกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่จะเป็นสายวิชาการใดวิชาการหนึ่ง เป็นงานที่ครอบคลุมเป็นภาพรวมที่มีตั้งแต่ ศึกษา, โยธา, แพทย์, สถาปนิก และรัฐศาสตร์การปกครอง เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ของ กทม. จำเป็นต้องมีศูนย์รวมข้อมูลเพื่อนำศูนย์รวมข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาแล้วนำผลจากการวิเคราะห์ไปสังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาการวางนโยบายและการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จเพราะถ้าต่างคนต่างทำงาน ผลที่ออกมาจะเป็นลักษณะที่ทำเสร็จแล้วก็แล้วกันไป มีการหวังผลน้อยจึงควรปรับไปสู่ วิธีการที่ทำงานเป็นระบบซึ่งนำไปสู่การทำงานที่หวังผลได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ และข้อมูลที่ป้อนในระบบซอฟต์แวร์ที่เรามีอยู่ซึ่งสามารถจัดระบบอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนหรือหวังผลได้ สามารถที่จะพยากรณ์อนาคตหรือ Outcome ได้ชัดเจน ทั้งยังสามารถติดตามประเมินผลความสำเร็จได้ชัดเจนกว่า นี้เป็นส่วนดี แต่ระบบไอที ไม่ใช่หวังแต่ความสามารถของฮาร์ดแวร์อย่างเดียว แต่การนำระบบมาพัฒนาเพื่อให้เกิดกระบวนการฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทำด้วยตัวเองไม่ได้ สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า คือ Peopleware คือคนที่นำระบบนั้นป้อนข้อมูลเข้าไปจัดระบบและนำเอาผลของการจัดระบบไปใช้ ตรงนั้นจะเป็นวิสัยทัศน์ของการทำงานของกทม. ซึ่งจะเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการทำงานระดับชาติเพราะกทม. เหมือนองค์กรที่มีลักษณะการทำงาน คือ ทุกกระทรวงมารวมในกทม. รวมทั้งการพัฒนาเขตต่างๆเหมือนการพัฒนาจังหวัด ซึ่งเลียนแบบกันมาและสามารถเป็นต้นแบบได้และนี้คือวิสัยทัศน์ที่ผมคิดว่า กทม. มีต่อระบบไอที

สถานภาพในการจัดทำแผนแม่บทไอทีของกทม. เป็นอย่างไร ?

น่าจะทำได้ไม่ยากเพราะองค์กรไม่ใหญ่มากเหมือนแผนแม่บทระดับชาติที่ต้องครอบคลุมคน 63 ล้านคน 76 จังหวัด ค่อนข้างจะเป็นภาพที่ใหญ่ แต่ของกทม. ที่ครอบคลุมคน 8.6 ล้านคน มี 14 สำนัก 50 เขต ไม่ใหญ่มาก โดยเฉพาะการจัดระบบไอทีของกทม. มีกองคอมพิวเตอร์อยู่ในสำนักนโยบายและแผนรับผิดชอบชัดเจน และก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนตรงนี้หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกองระบบ, กองพัฒนา, กองควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการกำหนดสายงานสามารถกำหนดได้ชัดเจน สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเพื่อให้เกิดแผนแม่บทที่ชัดเจน คือ เรื่องการนำงบประมาณมาใช้อย่างประหยัด ถูกต้อง และคนนำระบบมาใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ได้ประโยชน์สูงสุด

โครงการไอทีของกทม. ที่นับว่าเป็น Master Piece ในสายตาของท่านคืออะไร

มีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดข้อมูล หรือ ด้านการแพทย์สาธารณสุข ขณะนี้สำนักการแพทย์ของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็น 1 ใน 14 ระบบราชการ มีการจัดเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน, การผ่าตัด, การจ่ายยา, การบริการรวมถึงการติดตามผลการรักษาผู้ป่วย, การเก็บประวัติผู้ป่วย ซึ่งจะมีในทุก ร.พ. และตอนนี้กำลังพัฒนาให้มีการเชื่อมโยงในลักษณะของ Intranet ในสำนักการแพทย์เอง ที่จะโยงข้อมูลของทุก ร.พ. มายัง Center ที่สำนักการแพทย์ และในอนาคตก็จะทำในระบบที่มาสู่ศาลาว่าการกทม. ในเรื่องการดูแลผู้ป่วย, การกำหนดเรื่องเตียง, เรื่องทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณ, การบริหารครุภัณฑ์, งานบุคคล สามารถนำไปสู่การควบคุมในศูนย์กลางได้

ระบบหนึ่งที่เราทำและได้รับคำชมมากคือ ระบบทะเบียนราษฎร์ ซึ่งทุกเขตได้เชื่อมโยงระบบทะเบียนราษฎร์กับกรมการปกครองแล้ว ขณะนี้ประชาชนที่ไปใช้บริการทำบัตรประชาชนจะได้ภายใน 15 นาที และในการแจ้งย้าย, แจ้งเกิด, แจ้งตาย ก็เชื่อมโยงไปกรมการปกครองได้อย่างรวดเร็ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการอยู่และสะท้อนถึงการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของการทำงาน ในขณะเดียวกัน การจัดระบบภายในเขตแต่ละเขตทั้ง 50 เขตที่กำลังพัฒนาระบบอยู่ มีระบบนำร่องเขตทดลอง คือ เขตพญาไท ที่นำระบบทะเบียนราษฎร์, ระบบการคลัง, ระบบการบริหารงานปกครอง, ระบบงบประมาณรายได้ นำเข้ามาอยู่ในระบบ LAN System ของเขตที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด และในอนาคตระบบนี้จะนำไปสู่ศูนย์กลาง อีกเรื่องที่ทำและใช้อย่างได้ผล คือระบบการส่งข้อมูลไปยัง Command Room ไปยังศาลาว่าการกทม. เรื่องของอุบัติภัย, การป้องกันภัยต่างๆ ในการส่งข้อมูล เรามี CCTV ที่จะจับจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร และนำภาพส่งไปยังศาลาว่าการฯ ซึ่งผู้บริหารกทม. สามารถบัญชาการได้ถึงแม้จะอยู่ที่ศาลาว่าการกทม. ไม่ว่าจะเกิดเหตุที่ไหน และในอุบัติภัยเรามีรถเคลื่อนที่ซึ่งสามารถจะส่งข่าวผ่านดาวเทียมเข้ามายังกทม. มีระบบที่ link กับหน่วยควบคุมสารเคมีของ สหรัฐอเมริกา เพราะขณะนี้เรามีสารพิษที่ลำเลียงใส่รถอยู่บนถนนมาก แต่ละชนิดมีพิษต่างๆ กัน มีความจำเป็นที่จะหายามาทำลายพิษนี้แตกต่างกันหมื่นกว่าชนิดที่วิ่งกันอยู่ขณะนี้ ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เราต้องรู้ว่าสารพิษคืออะไรและมีพิษต่อมนุษย์และธรรมชาติอย่างไรและเราจะล้างพิษได้อย่างไร ข้อมูลต่างๆ เราเชื่อมโยงติดต่อประสานกับสหรัฐอเมริกา ได้เพื่อที่นำเอาข้อมูลต่างๆ มาใช้ ตรงนี้เป็นการใช้ไอทีเพื่อเสริมการทำงานของกทม. เพื่อประชาชน ที่เห็นได้ชัด

ขณะนี้ กรุงเทพมหานครมีโครงการต่างๆ ด้านไอทีพอสมควร ท่านมีความพอใจในการดำเนินโครงการต่างๆ ณ ปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

โครงการไอทีในอนาคตต้องมีการพัฒนาต่อไป ตั้งแต่ในระดับเขตที่ต้องมีการประสานกับสำนักซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมกำกับทางด้านวิชาการ รวมไปถึงระบบที่เกิดการบริหารจัดการ (MIS, GIS) ที่กำลังทำโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้อยู่ ซึ่งผู้บริหารจะนำไปตัดสินใจ ถ้าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น โครงการนี้คงจะดำเนินการไปได้ผลเกือบเต็มที่ แต่ขณะนี้ หลายส่วนต้องถูกชลอลง ไม่ว่าจะเป็น GIS, MIS หรือระบบการศึกษา ซึ่งเรามีแนวความคิดที่จะนำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งให้กับทุกโรงเรียน

ในกทม. เพื่อให้เด็กรู้จักว่าคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร และโรงเรียนได้ขยายโอกาสที่สามารถจะสอนไปถึง ม.6 ได้ ได้ติดตั้งไปที่โรงเรียนประชานิเวศน์ ส่งผลให้การเรียนการสอนได้ผลดีพอสมควร เพราะโลกยุคปัจจุบัน ระบบคอมพิวเตอร์มีความจำเป็นมาก ในส่วนนี้เป็นส่วนหน้าที่ของกทม. ต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาลงด้านนี้

ระบบงานบริหารที่ทุกหน่วยงานของกทม. ใช้อยู่มี 8 ระบบ ในเรื่องนี้ ในการอบรมครั้งที่แล้วได้มีการพูดถึงทำเนียบของซอฟต์แวร์มาตรฐานที่ทุกหน่วยงานใช้อยู่ หากมีการจัดทำทำเนียบจริง ระบบตรงนี้ กทม. สามารถนำมาใส่ในทำเนียบเพื่อให้หน่วยงานอื่นใช้เป็นต้นแบบได้หรือไม่ หากไม่ได้ คิดว่าปัญหาอยู่ที่อะไร

การจัดทำทำเนียบระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการเก็บข้อมูลและการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่า กทม. จะมีส่วนราชการมากมาย ซึ่งมองในภาพรวมอาจจะนำมาเป็นพื้นฐานคร่าวๆ ได้ในการนำไปประยุกต์ใช้ แต่ในการที่จะลอกเอาระบบซอฟต์แวร์ของกรุงเทพมหานคร ทั้งระบบไปใช้คงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

ในระยะ 3-5 ปีนี้ท่านคิดว่าท่านจะเน้นโครงการไอทีใดเป็นพิเศษ

GIS ของกทม. มีความสำคัญมากเพราะกทม. มีลักษณะการปกครองที่ครอบคลุมถึง 14 หน่วยงาน ถ้าเราขาดระบบ GIS อาจเกิดการทำงานซ้ำซ้อนกันได้อีก บางทีเราก็ไม่รู้ว่าใต้ดินมีการวางท่อสายอะไรไว้ เพราะฉะนั้น เราต้องมีการนำข้อมูลหน่วยงานต่างๆ มาลงในระบบ GIS และเวลาทำงานต่างๆ เราจะได้รู้ถึงสภาพพื้นที่

นอกจากนี้ ระบบ GIS จะนำไปสู่การพัฒนาว่าตรงไหนขาดอะไรและมีอะไรแล้วบ้าง จาก GIS จะนำไปสู่ MIS ได้ การเก็บข้อมูลต่างๆ ตรงนี้จะเกิดประโยชน์ในการสร้างนโยบาย และพื้นฐานในการดูแลบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า, ประปา, โทรศัพท์, ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ขณะนี้ กทม. ไม่ได้ดูแลเอง มีหน่วยงานต่างๆ ช่วยกทม. ดูแลเมื่อกทม. ต้องดูแลพื้นที่ที่มีหน่วยงานอื่นทำงานอยู่ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าเขาทำงานอะไร ที่ไหนจึงเป็นระบบที่มีความจำเป็นมากในการทำผังเมือง เพราะขณะนี้ กทม. เติบโตอย่างไม่มีทิศทาง ใครอยากสร้างอะไรก็สร้าง ดังนั้น เรื่องการทำผังเมืองต้องอาศัยระบบ GIS เป็นอย่างมากเพื่อควบคุมให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างมีระบบ

ขอทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการไอทีของกทม.

ทุกหน่วยงานจะมีปัญหานี้ คืองบประมาณ ถึงแม้ระบบไอทีจะเป็นสมองที่เก็บข้อมูลได้คงทนและครอบคลุมกว่าสมองคน แต่ไอทีก็ยังคงต้องให้คนสั่งงาน ฉะนั้นเรื่องของ Peopleware ในการเก็บข้อมูล แปรผลข้อมูล นำข้อมูลไปใช้ต่างๆ ยังคงมีความสำคัญอยู่มาก ขณะนี้เราขาดงบประมาณในเรื่องที่จะลงไปสู่ ฮาร์ดแวร์ เราก็ใช้สติปัญญามนุษย์ไปพัฒนาซอฟต์แวร์ไปใช้งานได้ประโยชน์มากที่สุดแทน ในขณะเดียวกันก็ให้คนได้ใช้เครื่องนั้นได้อย่างครบถ้วน ปัญหาที่พบขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร คือ การซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้แต่ใช้ไม่ครบฟังก์ชั่น ที่คอมพิวเตอร์มี เพราะฉะนั้น เราเสียเงินในการซื้อเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่ได้ใช้งานให้คุ้มค่า รวมทั้งการนำเอาระบบต่างๆ ที่เรามีอยู่กระจัดกระจายมา link เข้าหากัน เป็นปัญหาที่มักขาดการประสานงานกันทำให้การสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในระบบ Network

ทางกรุงเทพมหานครมีข้อเสนอแนะในเรื่องบุคลากรอย่างไร และในส่วนของภาครัฐท่านมองว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คืออะไร

การนำคนมาใช้กับคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้น เรื่องการสร้างคนให้เข้าใจระบบคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจัดคนไปเรียนแล้วกลับมาฝึกอบรมในหน่วยงานเองก็ได้ หรือ ให้มีหน่วยกลางเป็นหน่วยฝึกอบรม ซึ่งขณะนี้ทางกทม. เป็นผู้ฝึกอบรมและมีหลักสูตรในการฝึกข้าราชการระดับปฏิบัติ และราชการในระดับคุมงาน หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ก็ได้รับความกรุณาจากหลายหน่วยงานรวมทั้งเนคเทคและสำนักงาน ก.พ. ด้วย เรื่องการฝึกคนเรายังมีความจำเป็นอยู่มาก เพราะว่าคนส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนจากพนักงานพิมพ์ดีด เป็นพนักงานเก็บข้อมูล ดังนั้น นอกจากจะพิมพ์ดีดแล้วยังต้องเก็บข้อมูลให้เป็นระบบด้วย ซึ่งต้องฝึกให้บันทึกข้อมูลได้อย่างถูกต้อง

ท่านมีคติพจน์หรือหลักการในการทำงานอย่างไร

คติพจน์ด้านไอที คือ การที่เรามีเครื่องมือในการทำงานเป็นเรื่องดี ปัญหาหรือสิ่งที่ควรพัฒนาคือคนที่นำเครื่องมือนั้นไปใช้ให้ได้ประโยชน์กับส่วนรวม และให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยจะเพิ่มความสามารถของตนเองในการใช้ขึ้นมาเพื่อให้เครื่องมือสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด