IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - นางณฐนนท ทวีสิน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

กองบรรณาธิการได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับไอที ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่หลายประการทีเดียวค่ะ

ประโยชน์ของการแต่งตั้ง CIO ในกทม.

แต่เดิมการพัฒนาระบบไอทีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีลักษณะที่กระจัดกระจาย ไม่ได้มีเพียงสำนักนโยบายและแผนเท่านั้นที่เข้ามาดูแลด้านคอมพิวเตอร์ แต่สำนักอื่นๆ ที่สนใจด้านไอทีก็จะเสนอซื้อคอมพิวเตอร์เองเหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อต้องการพัฒนาหน่วยงานให้ก้าวทันไอทีทำให้เกิดการปฏิบัติงานเหมือนต่างคนต่างทำ ทางกทม.จึงหาแนวทางแก้ไขโดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ขึ้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้แทนของหน่วยงานนั้นๆ มักจะเปลี่ยนตัวเข้าประชุม และบางหน่วยงานก็มีผู้แทนที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องไอทีอย่างชัดเจน เมื่อมีการแต่งตั้ง CIO ทำให้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในการบริหารและการดำเนินการของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะ CIO ต้องกำหนดวิสัยทัศน์และมีบทบาทหน้าที่หลายๆ ประการ เช่น ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบายในเรื่องมาตรฐานไอทีและการวางแผนไอทีฯ รวมทั้งระบบการติดตามประเมินผล ซึ่ง CIO ต้องดำเนินการครบขั้นตอนทั้งหมดและจะเป็นจุดศูนย์กลางให้หน่วยงานนั้นๆ เข้าสู่ระบบรวมของกทม. ปัจจุบันนอกจากจะมี CIO ของกทม. แล้วยังมี CIO ของสำนักต่างๆ ในกทม. ซึ่งจะมารวมกันเป็นคณะกรรมการไอทีของกทม. เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงเครือข่าย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานอีกด้วย

ส่วนราชการหลายหน่วยงานอาจมองว่างาน CIO เป็นงานฝากเพราะ CIO มีงานประจำมากอยู่แล้ว แต่สำหรับทางกทม. ถือว่าเมื่อมีการมอบหมายอำนาจ หน้าที่แล้ว งาน CIO จะเป็นงานแรกที่ต้องเร่งปฏิบัติอาทิเช่น กรณีปัญหา Y2K ซึ่งจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องมีวิสัยทัศน์ทางด้านไอทีไปข้างหน้า โดยมองในสิ่งที่จะทำให้บริหารงานไปได้ เช่น Internet, E-mail และต้องเร่งพัฒนาศักยภาพหรือให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับเพราะในปัจจุบัน กทม.เป็นศูนย์กลางที่เป็นตัวประสานและวางแผนในเรื่องการจัดการ ดังนั้น จิตสำนึกในความรับผิดชอบเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ CIO ถึงแม้ว่าจะมีงานประจำอยู่แล้วก็ต้องตระหนักว่างานนี้ เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางให้เราดำเนินต่อไปในอนาคต เพราะในการบริหารงานจัดการ, ธุรกิจ จะเกี่ยวข้องกับไอทีเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงนับเป็น Priority ที่สำคัญ

กลไกในการประสานงานระหว่าง CIO ของกทม.

ปัจจุบันมี CIO ประจำกทม. และ CIO สำนักที่ผ่านการอบรมโดยสำนักงาน ก.พ. รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ท่าน ซึ่งกทม. จะส่ง CIO เหลือของสำนักต่างๆ เข้ารับการอบรมเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มระหว่างองค์กรต่างๆ ให้เป็นระบบ (Unity) ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเห็นว่าในการทำงานจะเกิดภาพรวมว่าคอมพิวเตอร์สามารถมีเครือข่ายที่เชื่อมโยง (link online) และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

คณะทำงานของ CIO จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน อาทิเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับเชิญจาก Computer Associate ซึ่งมีนายชาร์ล บี วัง เป็นประธานให้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “คอมพิวเตอร์ปี 2000” ณ รัฐนิวออรีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการเผยแผ่ข่าวสาร สรุปที่ได้จากการประชุมแก่ CIO ของกทม. และ CIO หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดทราบ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง CIO newsletter ด้วยเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันอีกด้วย

วิสัยทัศน์ด้านไอทีของ กทม.

เน้นในเรื่องแผนแม่บทไอทีฯ ของกทม. โดยพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นระบบเดียวกัน (Unity) เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับภาครัฐและเอกชนที่สามารถ link online ได้ ทั้งนี้ได้มีการวางกรอบคร่าวๆ ดังนี้

  • จัดให้ระบบสารสนเทศสามารถเชื่อมโยงหน่วยงานระหว่าง กทม. และหน่วยงานภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มีการ link online กับหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น การไฟฟ้านครหลวง, การประปานครหลวง
  • วิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบสารสนเทศของกทม. ให้มีความชัดเจนด้านนโยบายและการปฏิบัติงาน สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในระยะยาว รวมทั้งขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนที่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
  • การบริหารงานทรัพยากรสารสนเทศทั้งทางด้านบุคลากร, เครื่องมืออุปกรณ์, ความคุ้มค่าที่สะท้อนให้เห็นความต้องการด้านสารสนเทศอย่างแท้จริง
  • การพัฒนาระบบไอทีที่จะสามารถผันแปรตามสถานการณ์ได้ รวมทั้งมีกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและการประเมินผลในระยะสั้นและระยะยาวได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงเครือข่าย

สถานภาพของระบบสารสนเทศ กทม.

เดิมมีระบบ MIS, GIS รองรับ แต่ไม่เพียงพอต่องานที่ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นจึงตระหนักถึงการวางแผนแม่บทไอทีฯ และการเชื่อมโยงเครือข่าย (network) โดยมองภาพรวมของหน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถจะเป็นประโยชน์ต่อกันด้วย ดังนั้นจึงต้องทราบข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อที่จะทราบว่ามีข้อมูลใดที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง ดังนั้น CIO ต้องมองระบบทั้งหมด ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ กทม. Support ข้อมูล อาทิเช่น ข้อมูลงานด้านทะเบียนราษฎร์ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อาทิ การเปลี่ยนชื่อ, ย้ายที่อยู่ ซึ่งกทม. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการอยู่

งานด้านไอทีที่ให้ความสำคัญมาก

ในอนาคต คาดว่าจะมีการพัฒนาด้านเครือข่ายที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะในปัจจุบันมีลักษณะอยู่อย่างกระจัดกระจายจากหลายๆ หน่วยงาน ซึ่งสามารถนำมาจับ Group ร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญของไอทีมากพอสมควร จากการไปบรรยายที่ต่างๆ ทุกครั้งก็มักจะย้ำเตือนถึงความสำคัญของไอทีเสมอๆ โดยสอดแทรกและเสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไอทีเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ ซึ่งประโยชน์นานาประการของไอที อาทิเช่น การคลายเครียด, ความคุ้มค่า และการแสวงหาความรู้ต่างๆ ทางอินเทอร์เนต ทั้งนี้ กทม. ได้เห็นวิสัยทัศน์และคุณประโยชน์ดังกล่าว จึงมีการประยุกต์ใช้ไอทีในงานต่างๆ มากขึ้น โดยตระหนักถึงภาพรวมของทุกหน่วยงานภายนอกด้วย

ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาของกทม. คือการกระจัดกระจายของข้อมูลภายในหน่วยงานอยู่ ในลักษณะต่างคนต่างทำ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้กำลังหมดไป นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง CIO ขึ้นเพราะจะเกิดความเชื่อมโยงด้านข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพของข้อมูล

อนาคตไอทีของภาครัฐ

ควรเร่งให้มีความเป็นเอกภาพ (Unity) ของข้อมูลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งถ้ามีแผนแม่บทไอทีฯ ของประเทศ ผนวกกับความตั้งใจจริงของ CIO จะช่วยให้สามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการวางแผนแม่บทไอทีจำเป็นต้องตระหนักถึงหน่วยงานภายนอกที่จะเข้ามาร่วมวางระบบเพื่อเชื่อม (link) เครือข่ายเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ กทม.ยังเป็นหน่วยงานท้องถิ่นใหญ่และเป็นส่วนย่อของหน่วยงานภาครัฐ จึงมีส่วนเชื่อมกับกระทรวงต่างๆ ทั้งหมด

Web site กทม.

ขณะนี้ กทม. ได้จัดทำ Website กทม. โดยบุคลากรภายใน กทม.เอง ซึ่งมีบริการมากมายหลายประเภท อาทิเช่น การท่องเที่ยว, ผังเมืองกทม., การบริหารกทม. รวมทั้งข่าวสารที่มีการ Update ทุกวัน และที่สำคัญคือ มีบริการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทาง E-mail adders ซึ่งสามารถเข้ามาร้องเรียนเรื่องราวต่างๆ ได้ผ่านทาง Website นี้ ที่อยู่คือ http://www.bma.go.th

หลักในการทำงาน

1. หลักในการบริหาร (7 น) น่ารัก, นุ่มนวล, นอบน้อม, โน้มน้าว, หนักแน่น, แน่นอน, นิรันดร

2. หลักในการปฏิบัติงาน โดยเน้นในเรื่องการประสานงานกับ CIO ของหน่วยงานอื่นๆ

มุมานะอดทนบากบัน มนุษยสัมพันธ์ร่วมกันแก้ปัญหา

ประสานงานทุกฝ่ายเพื่อพัฒนา วัฒนา กทม. ให้รุ่งเรือง

ข้อเสนอแนะสำหรับ CIO

การเปิดใจกว้างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันพัฒนาจะช่วยให้การบริหารงานระหว่างหน่วยงานมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CIO ควรปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ อาทิเช่น ควรร่วมกิจกรรมด้านไอทีเสมอๆ, ขวนขวายหาความรู้ด้านไอที, แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารโดยเน้นเรื่องเชื่อมโยงเครือข่ายให้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ ขอฝากความประทับใจในวารสาร CIO Newsletter และขอเสนอแนะในส่วนของ Web site CIO ให้มีการเผยแพร่เนื้อหาให้มากขึ้น อาทิเช่น ผลการประชุมต่างๆ การสัมมนาที่เนคเทคจัดหรือหน่วยงานเอกชนจัด รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลายของ CIO แต่ละหน่วยงาน ซึ่ง CIO แต่ละท่านสามารถใช้วิจารณญาณและประสบการณ์นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด