IT Idea for Spiritization
การจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ - Computer Center Management
ต้อนรับแนะนำการใช้เว็บวัตถุประสงค์ของวิชาแผนการสอนตำราและหนังสือการคิดคะแนนสอบ
แนวทางการทำข้อสอบแนวทางการเขียนรายงานคำบรรยายรายชื่อนักศึกษาReading Materials
Discusstion ForumLinksQuestionCase Studies

Case Studies

สัมภาษณ์ CIO - กิตติ ลิ้มชัยกิจ
รองเลขาธิการและ CIO ประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นองค์กรหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุม ตรวจสอบกำกับ ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแนวนโยบายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ท่านกิตติ ลิ้มชัยกิจ รองเลขาธิการ และ CIO ประจำ ป.ป.ส. มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวนโยบายดังกล่าว โดยมีรางวัลโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐดีเด่น ครั้งที่ 1 ซึ่งชนะเลิศในประเภทโครงการความร่วมมือดีเด่นทางด้านไอที คือ โครงการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทั้งนี้ ท่านกิตติ จะมาเปิดเผยให้ทราบถึงแนวนโยบายที่มุ่งมั่นจะขจัดภัยร้ายจากยาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทย รวมทั้งความเป็นมาของโครงการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ ดังนี้

ขอทราบวิสัยทัศน์ด้านไอทีของ ป.ป.ส. และในปัจจุบันบรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้วมากน้อยเพียงใด

ป.ป.ส. นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของหน่วยนโยบาย หน่วยประสานงาน หน่วยวิชาการ และหน่วยปฏิบัติ กล่าวคือ พัฒนานโยบายในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดของประเทศ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการข่าวเรื่อง ยาเสพติด ในส่วนของหน่วยปฏิบัติ ได้แก่ การดำเนินการตามกฎหมายในการปราบปรามเรื่องยาเสพติด, สร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องปัญหายาเสพติด โดยรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในทุกรูปแบบ ในแง่ของการปราบปรามนั้น ป.ป.ส. มีอำนาจตามกฎหมายที่จะปราบปราม ผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติดโดยตรงตามเจตนารมย์ของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ป.ป.ส. เพื่อถ่วงดุลไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป จึงต้องมีแนวปฏิบัติที่จะไม่ให้เป็นการก้าวก่ายหน้าที่กัน โดย ป.ป.ส. จะเน้นในเรื่องการข่าวและใช้ข้อมูลประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก กอรปกับอัตรากำลังที่มีอยู่ของ ป.ป.ส. ไม่พอเพียงในการดำเนินการปราบปรามเพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติการร่วมกันกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามโดยตรง ซึ่งไอทีจะสามารถช่วยงานในส่วนของระบบฐานข้อมูลมากทีเดียว

เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ไอทีได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนภารกิจ เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ด้านไอทีที่ต้องการพัฒนาในเรื่องนโยบาย การประสานงานและข้อมูล ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอบสนองต่อหน่วยงานภายนอกเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ ป.ป.ส. ได้มุ่งเน้นในเรื่องการเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแนวนโยบายในการเป็นศูนย์กลางการข่าวเพื่อสนับสนุนในการปราบปราม ดังนั้นงานข้อมูลจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากจะเอื้ออำนวยในการปราบปรามยาเสพติด

เนื่องจากความหลากหลายของระบบข้อมูล รวมทั้งความต้องการของ users ที่มีมากอยู่ตลอด จึงต้องมีการพัฒนาข้อมูลเพื่อตอบสนอง user ทั้งภายในและภายนอก ป.ป.ส. ข้อมูลบางส่วน ป.ป.ส. เป็นเจ้าของเอง เช่น ข้อมูลผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด แต่เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวิสัยทัศน์ในระยะเวลาอันสั้น ข้อมูลบางส่วน ป.ป.ส.ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเองทั้งหมด แต่ขอใช้จากหน่วยงานอื่นโดยผลักดันให้หน่วยงานนั้นๆ พัฒนาระบบข้อมูลให้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะมีประโยชน์และสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อยู่ในแผนแม่บทสารสนเทศเพื่อการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด เป็นแผนระยะ 3 ปี ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว กล่าวโดยสรุป ป.ป.ส. ได้นำไอทีมาใช้ในส่วนหลักๆ คือ เรื่องงานด้านปราบปราม ซึ่งต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลที่จะนำไปสู่กระบวนการวางแผน ในเรื่องการพัฒนานโยบาย มีระบบข้อมูลต่างๆ ที่จะ serve MIS แผนแม่บทไอทีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานด้านไอทีบรรลุวิสัยทัศน์ไปได้บางส่วนเพราะมีข้อจำกัดด้านบุคลากร ในช่วงยุคเศรษฐกิจดี เราสูญเสียบุคลากรด้านไอทีไปมาก ส่งผลให้การพัฒนาด้านไอทีช้าลง และเมื่อต้องรับเจ้าหน้าที่ใหม่ทั้งหมดก็ต้องเสียเวลาในการพัฒนามาก ทำให้เราบรรลุสู่วิสัยทัศน์เพียงบางส่วนเท่านั้น

ในฐานะที่ท่านเป็น CIO ท่านมีแนวนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ด้านไอทีอย่างไร

ป.ป.ส. มีแนวนโยบายด้านไอที 3 ประการ คือ

  • ต้องการให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสะท้อนปัญหาที่แท้จริงในระดับพื้นที่ให้ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลของ user ต่างๆ ให้ทันการณ์
  • ต้องการให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลให้ทั่วถึง ทั้งในระดับภูมิภาค และชุมชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  • การพัฒนาระบบต่างๆ ต้องสามารถพัฒนาและจัดระบบเฝ้าระวังให้สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ และนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค

แนวทางการปฏิบัติด้านการจัดการข้อมูล จำแนกเป็น 2 แนวทาง คือ 1) การจัดหาข้อมูลด้วยตนเองหรือการจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ outsource 2) การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบเครือข่าย เช่น ข้อมูลหนังสือเดินทาง ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนหรือพัฒนากลยุทธในการจัดเก็บให้แก่หน่วยงานที่ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์ อีกด้วย

ไอทีได้เข้ามามีบทบาทกับหน่วยงานของท่านมากน้อยอย่างไร นับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และในอนาคต

ป.ป.ส. ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญของหน่วยงาน คือเรื่องของข้อมูล ซึ่งเดิมได้ใช้ในระบบ manual ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับการสนับสนุนในรูปของความช่วยเหลือเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก โดยนำมาใช้ในการจัดเก็บและประมวลผลแบบฟอร์มผู้เข้ารับการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติดจากสถานพยาบาล แต่เนื่องจากระบวนการเก็บข้อมูลเดิมอยู่ในระบบ manual ทำให้มีปัญหาในเรื่องการจัดเก็บและการสืบค้นข้อมูล ดังนั้นจึงมีการนำไอทีมาช่วย และในช่วงที่มีการวางแผนเพื่อทำการศึกษาด้านไอทีอยู่นั้น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเจราจาติดต่อผ่านนานาประเทศ พร้อมทั้งชี้ประเด็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทางเข้าออกหลายทาง จึงสามารถเป็นทางผ่านของยาเสพติดจากหลายๆ ประเทศได้ง่าย ส่งผลให้นานาประเทศหันมาให้ความสนใจเป็นอันมาก ป.ป.ส. เล็งเห็นว่า ด้านการปราบปรามควรเน้นในส่วนของการข่าว โดยมีการเก็บข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถนำมาใช้ได้ทันการณ์ควรนำไอทีมาช่วยในการดำเนินงาน แต่ติดขัดที่งบประมาณ ท้ายที่สุด ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศ ออสเตรเลียในด้านงบประมาณและบุคลากร ทำให้เริ่มพัฒนาระบบไอทีอย่างจริงจัง โดยศึกษาเป็นโครงข่ายระบบต่างๆ ที่ต้องพัฒนา เราจึงเริ่มขยายและพัฒนาขีดความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีการ upgrade เครื่อง mainframe ไปแล้วประมาณ 7 ครั้ง ปัจจุบัน mainframe เป็นของ แอมดาว CS 422 memory 256 MB

ทั้งนี้ ป.ป.ส. ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศออสเตรเลีย 2 ส่วน ดังนี้

1. ในส่วนของ hardware/ software ที่ใช้ในการปราบปราม มี software ที่ช่วยในการเก็บเนื้องานข้อมูลข่าวสาร คือ โปรแกรมสแตร์ ของบริษัท IBM ซึ่งต่อมากระทรวงยุติธรรมได้นำโปรแกรมนี้ไปใช้ในการเก็บคำพิพากษาด้วย นอกจากนี้ ป.ป.ส. ยังได้นำคอมพิวเตอร์มาประมวลผลในระบบอื่นๆ เช่น การบำบัดรักษา โดยใช้การประมวลผลเชิงคณิตศาสตร์

2. ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ส. ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์โดยตรง แต่เป็นเจ้าหน้าที่สถิติมาก่อน ซึ่งพอมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ สัดส่วนของเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมด มีประมาณ 6 % เท่านั้น จึงต้องพัฒนาให้มีบุคลากรด้านนี้มารองรับงานในส่วนนี้ให้มากขึ้น

ปัญหาส่วนหนึ่งที่เราพบ คือ ในขณะนั้นการตอบสนองของ mainframe ในด้านระบบข้อมูลยังไม่สามารถตอบสนองได้ทันการณ์ user จึงพยายามดำเนินงานด้วยตนเองโดยการจัดหา hardware และ software ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองได้ดีกว่า โดยเฉพาะ software ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ ซึ่งนับเป็นบทเรียนให้ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องการพัฒนาระบบที่มุ่งเน้นในส่วนของ mainframe มากเกินไป ทำให้เกิดการพัฒนาในลักษณะต่างคนต่างทำ เกิดเป็น LAN วงเล็กๆ หลายวง ซึ่งขณะนี้ได้พยายามให้มีการเชื่อมโยงในระบบ mainframe และ PC โดยให้ mainframe เป็นเสมือน Server ขนาดใหญ่ที่จะช่วยเสริมงาน PC ในแต่ละส่วน ได้วางแผนพัฒนาเครือข่าย โดยการเชื่อมระบบ LAN หลายๆ วงกับ mainframe ให้เป็นเครือข่าย โดยให้ mainfranme เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นลักษณะโครงสร้างของการพัฒนาไอทีแบบกระจาย ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกก็ทำได้ในทำนองเดียวกัน หน่วยงานที่ ป.ป.ส.เชื่อมโยงข้อมูล อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักทะเบียนราษฎร์ ซึ่งเชื่อมโยงในลักษณะที่ ป.ป.ส. เป็น user หนึ่ง จากนั้น Copy ข้อมูลส่วนที่ใช้งานและนำมาลงใน mainframe ของ ป.ป.ส. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะต้องพัฒนาระบบให้เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขอทราบความเป็นมาของโครงการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผลการดำเนินงาน บุคลากรที่จัดทำโครงการ ปัญหา/ อุปสรรคภายหลังการใช้งานจริงและแนวทางแก้ไขปัญหา

โครงการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ ป.ป.ส. ได้พัฒนาร่วมกันกับประเทศออสเตรเลีย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นระบบสารสนเทศหลักสำหรับการเฝ้าระวังและสกัดกั้นบุคคลต้องห้าม เกี่ยวกับการค้ายาเสพติด การค้าหญิงและเด็ก การฉ้อโกงประชาชน ฯลฯ หรือบุคคลที่มีหมายจับ / หมายศาล หรือมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม โดยใช้การเดินทาง เข้า-ออก ประเทศไทย เพื่อประกอบอาชญากรรมข้ามชาติ และมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการตรวจสอบบุคคลและบริการ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ในขั้นแรก ป.ป.ส. ได้เข้าไปศึกษาระบบของกองตรวจคนเข้าเมืองซึ่งเดิมเก็บและค้นหาด้วยระบบการ์ด ต่อมา ป.ป.ส. ได้พัฒนาโดย online กับระบบคลังของ ป.ป.ส. มีการติดตั้ง Terminal ครั้งแรกที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) กลาง โดยนำแบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมืองมาบันทึก เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วจึงนำไปประมวลผล และเชื่อมโยงไปยัง mainframe ของ ป.ป.ส. อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวยังนับว่าเป็นการได้ข้อที่ล่าช้า ส่งผลให้งานปราบปรามในขณะนั้นดำเนินการได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนปัญหาที่ตามมา คือ การเก็บข้อมูลไม่ทัน เพราะข้อมูลมีมาก จึงมีข้อมูลบางส่วนหายไป กลายเป็นข้อมูลที่ล่าช้าไม่สามารถนำไปใช้ในการปราบปรามได้ ทั้งนี้เนื่องจากกำลังคนไม่พอเพียงต่อการทำงาน และเจ้าหน้าที่ยังมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ จึงค่อยๆ พัฒนา โดยให้เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล ณ จุดคนเข้าเมือง เพื่อเช็คในเรื่องของการสกัดกั้นบุคคลที่มีหมายจับ/หมายศาล หรือเป็นภัยต่อสังคม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาไปยังส่วนภูมิภาคด้วย โดยปัจจุบัน สามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้เดินทางได้รวดเร็วขึ้น และเป็น real time มากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ ป.ป.ส. เป็นผู้ maintenance ระบบและให้ด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นผู้ใช้ จากการดำเนินงานนี้ส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดดียิ่งขึ้น มีการจับกุมที่ปลายทางมากขึ้น และสามารถขยายผลในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ป.ป.ส. คาดว่าในอนาคตจะพัฒนาใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบจากระบบน้อยที่สุดให้มีหน่วยเป็นวินาที

คติการทำงานของท่าน และฝากถึง CIO ท่านอื่นๆ อย่างไร

จากการที่ได้ผ่านการอบรม CIO ทำให้เห็นความหลากหลายของระบบข้อมูล และระบบไอทีใน แต่ละส่วนราชการ นอกจากนี้การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ CIO ท่านอื่นๆ ช่วยให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น เพราะภายหลังการพูดคุยและพบว่า CIO หลายๆ ท่านจะมีวิสัยทัศน์ และประสบปัญหาที่คล้ายๆ กัน ทั้งนี้ ผลพวงสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง CIO จะช่วยให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานง่ายดายและรวดเร็วขึ้น