Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

เทคโนโลยีการบริหารการศึกษา

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
(บทความนี้ได้ปรับปรุงจากเอกสารชุดวิชาที่ผมเขียนให้แก่ทาง สมธ. )


        การบริหารการศึกษามีความสำคัญมากเพราะการศึกษาของเยาวชนหรือคนในประเทศจะดีหรือเลว จะทำให้คนในประเทศแข่งขันกับคนในประเทศอื่น ๆ ได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารการศึกษา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือขึ้นอยู่กับผู้บริหารการศึกษาของบ้านเมืองนั่นเอง หากประเทศใดได้นักบริหารการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา และผลกระทบของการศึกษาต่อความก้าวหน้าของประชาชนและประเทศชาติแล้ว ประเทศนั้นก็จะมีความรุ่งเรืองในทุกๆ ทาง ในทางตรงกันข้าม หากประเทศใดไม่มีนักบริหารการศึกษาที่เก่ง และ ทำงานโดยกำหนดเอาความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองของประเทศชาติเป็นธงชัยแล้ว ก็ยากที่ประเทศนั้นจะรุ่งเรืองได้

        การบริหารงานใดๆ ในยุคนี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสม เครื่องมือที่รู้จักกันทั่วไปก็ได้แก่เครื่องมือที่ใช้ในสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้แก่ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูล ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือทางปัญญาอีกหลายอย่าง เช่นBalanced Score Card, เครื่องมือการวางแผน, เครื่องมือการติดตามงาน ฯลฯ เครื่องมือเหล่านี้ขอรวมเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับบริหารการศึกษา บทความนี้ต้องการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีเหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง โดยยังไม่ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีแต่ละประเภท


ความหมายของการบริหารการศึกษา ปัจจุบันนี้เราต่างตระหนักดีว่าการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ ยิ่งประเทศมีผู้ได้รับการศึกษาในระดับสูงโดยเฉพาะทางด้านที่เป็นที่ต้องการมากเท่าใด ประเทศก็จะมีศักยภาพในการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ผลงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เพราะผู้ปฏิบัติมีความรู้และความสามารถเป็นอย่างดี เมื่อประชาชนมีความรู้มากขึ้น มีความเข้าใจในความถูกผิดชั่วดีมากขึ้น การกระทำผิดกฎหมายและจริยธรรมก็อาจจะลดลง และทำให้ประเทศมีความระดับความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นสูงขึ้นตามไปด้วย

        การที่จะปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งเราเรียกว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นจำเป็นจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นับตั้งแต่รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และ นักเรียนนักศึกษา หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้เพิกเฉย หรือไม่ร่วมมือสนับสนุนเสียแล้ว การปฏิรูปการศึกษาก็จะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้เองผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการปรับปรุงหรือปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นจะต้องรู้วิธีการบริหารจัดการที่ดี

        ระดับการจัดการศึกษาที่เล็กลงมาจากการปฏิรูปการศึกษา ก็คือการดูแลให้การศึกษาในสถาบันการศึกษาดำเนินไปอย่างราบรื่น การจัดการศึกษานั้นอาจจะพิจารณาได้เป็นสองแนวทาง แนวทางหนึ่งก็คือพิจารณาจากลักษณะงานของผู้บริหารการศึกษาเอง และอีกแนวทางหนึ่งก็คือพิจารณาจากเนื้องานที่เกี่ยวกับการศึกษา

การจัดการเมื่อพิจารณาจากลักษณะงานของผู้บริหารการศึกษาในสถาบันการศึกษาแล้วอาจแบ่งได้เป็นงานสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

  1. การวางแผนการศึกษา ได้แก่การวางแผนงานในทุก ๆ ด้านเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนในสถาบันดำเนินไปอย่างราบรื่น อาทิ การวางแผนด้านหลักสูตร การวางแผนการสร้างอาคาร การวางแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ฯลฯ
  2. การจัดองค์กร ได้แก่การจัดรูปแบบการดำเนินงานภายในสถาบันการศึกษา รวมทั้งการจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อให้มารับตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ งานนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาและประเมินการทำงานของบุคลากรด้วย
  3. การจัดงานและควบคุมให้การทำงานเป็นไปตามที่กำหนด ได้แก่การกำหนดเนื้องาน การมอบหมายงานให้บุคลากรรับไปดำเนินงาน การประสานงานบุคลากร และ การควบคุมให้บุคลากรเหล่านั้นดำเนินงานตามที่กำหนดอย่างครบถ้วนและได้ผลดี
  4. การสั่งการและการแก้ไขปรับปรุงงาน ได้แก่การออกคำสั่ง การออกระเบียบวิธีปฏิบัติ การกำหนดนโยบาย เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของสถาบันเป็นไปอย่างราบรื่น และหากการดำเนินงานมีปัญหา ก็แก้ไขปรับปรุงระเบียบและวิธีการต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
  5. การประเมินผลการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้บริหารจำเป็นจะต้องทราบตลอดเวลาว่า งานบริหารการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเป็นไปตามแผนงานหรือไม่ และสามารถให้ผลงานที่ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่ ดังนั้นผู้บริหารจะต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพของการปฏิบัติงานและของผลงานด้วย
  6. การจัดทำรายงาน ได้แก่ การจัดทำรายงานต่างๆ ตามระดับที่จำเป็นเพื่อนำเสนอต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือต่อผู้บริหารที่อยู่สูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะก็คือรายงานที่แสดงผลการประเมินการปฏิบัติงานที่กล่าวถึงไปแล้ว
  7. การจัดทำงบประมาณ ได้แก่ การพิจารณาวางแผนด้านการใช้จ่ายของสถาบันล่วงหน้า นำเสนอแผนงบประมาณต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือต่อผู้บริหารเพื่อให้อนุมัติ จากนั้นก็ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนงบประมาณนั้น

        หากพิจารณาหัวข้องานจัดการศึกษาโดยพิจารณาจากเนื้องานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอง ก็อาจจะแบ่งเป็นงานต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  1. งานจัดการหลักสูตร ได้แก่การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นกรรมการร่างหลักสูตรที่คาดว่าน่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ การพิจารณาอนุมัติหลักสูตร การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการตามหลักสูตร
  2. งานจัดการนักศึกษา ได้แก่การประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาสมัครเข้ามาศึกษาในสถาบัน การลงทะเบียนนักศึกษา การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา
  3. งานจัดการเรียนการสอน ได้แก่การกำหนดตารางการเรียนการสอน การจัดอาจารย์และวิทยากรมาสอน การจัดทำสื่อการสอน การสอบ การให้คะแนน
  4. งานบริหารบุคลากร ได้แก่ การจัดหาบุคลากรระดับต่างๆ มาปฏิบัติงานในสถาบัน การพัฒนาบุคลากร การประเมินผล
  5. งานจัดการงบประมาณ ได้แก่การพิจารณากำหนดงานที่จะต้องดำเนินการ การทำคำของบประมาณ การควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณ
  6. งานจัดการทรัพยากรและอุปกรณ์การศึกษา ได้แก่การจัดหา ควบคุม และ การดูแลรักษาทรัพยากรและอุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดี
  7. งานจัดการห้องสมุด ได้แก่การจัดหาหนังสือและวารสาร การจัดสถานที่อ่าน การให้บริการยืมคืน การให้บริการค้นคืนข้อมูลและเอกสาร
  8. งานจัดการศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ได้แก่การจัดหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การให้บริการอาจารย์และนักศึกษาเพื่อให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ การให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต
  9. งานจัดการเอกสาร ได้แก่การจัดระบบเอกสาร และ ระบบสารบรรณ
  10. งานจัดการการสื่อสาร ได้แก่การจัดหาระบบสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อให้บริการการสื่อสารต่างๆ เช่น ระบบโทรศัพท์ โทรสาร การประชุมทางไกล และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  11. งานให้บริการชุมชน ได้แก่การจัดการงานบริการต่างๆ ให้แก่ชุมชน เช่น บริการการศึกษาต่อเนื่อง การเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน


ความหมายของเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา การบริหารการศึกษาตามแนวทางที่ได้อธิบายมาข้างต้นนั้นเป็นงานที่มีความซับซ้อนมาก และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องได้รับข้อมูลและสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับใช้ในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วข้อมูลและสารสนเทศนั้นต้องเป็นปัจจุบันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้รับข้อเสนอจากอาจารย์กลุ่มหนึ่งว่าต้องการจัดตั้งสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้บริหารจึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นจัดทำหลักสูตรนี้ขึ้น ในการตัดสินใจว่าสมควรจะจัดตั้งสาขาวิชานี้หรือไม่ ผู้บริหารจะต้องทราบว่าหลักสูตรนี้มีความจำเป็นต่อประเทศหรือไม่ บัณฑิตที่จบไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ การเปิดสาขานี้ต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมืออะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายในการจัดหาเป็นเท่าใด จะหาอาจารย์มาสอนได้จากที่ใด ฯลฯ หากผู้บริหารไม่ได้รับข้อมูลและสารสนเทศที่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้แล้ว ผู้บริหารก็อาจจะตัดสินใจผิดพลาดได้

        การตัดสินใจและการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ให้มีประสิทธิผลนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีปัจจัยที่สำคัญอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการมีข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง และส่วนที่สองก็คือความรู้ว่าในสถานการณ์นั้นๆ จะตัดสินใจอย่างไร หรือจะดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสม

        การที่จะได้ข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันและถูกต้องมาใช้นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วย ในสมัยก่อนเครื่องมือเหล่านี้ก็คือแฟ้มและแบบฟอร์มกระดาษสำหรับจดบันทึกข้อมูลต่างๆ สำหรับจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ในลักษณะที่จะเรียกค้นออกมาได้ เครื่องมือเหล่านี้รวมไปถึงสมุดบัญชี สมุดบันทึกการปฏิบัติงาน ทะเบียนรับจ่ายหนังสือ เครื่องคิดเลข พิมพ์ดีด ฯลฯ แต่ในปัจจุบันนี้แม้หน่วยงานการศึกษาหลายแห่งอาจจะยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น นั่นก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(Information and Communication Technology) ทั้งนี้เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ดีกว่าเครื่องมือแบบเดิมที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

        สำหรับในกรณีของการที่จะมีความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินการหลังจากได้รับข้อมูลและสารสนเทศแล้วนั้น เครื่องมือที่จะช่วยผู้บริหารได้ดีที่สุดก็คือการศึกษาทั้งจากในสถานศึกษา และ การศึกษาจากผลลัพธ์ของการปฏิบัติงานในอดีต อย่างไรก็ตามในบางครั้งผู้บริหารอาจจะต้องประสบปัญหาต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ได้เรียนรู้หรือไม่มีประสบการณ์มาก่อน ผู้บริหารก็อาจจะต้องใช้เครื่องมืออย่างอื่นมาช่วยตัดสินใจด้วย เครื่องมือที่น่าจะเป็นประโยชน์คือระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และจัดอยู่ในกลุ่มของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่า เทคโนโลยีสำหรับบริหารการศึกษาก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั่นเอง นอกจากนั้นเราอาจจะให้ความหมายเทคโนโลยีบริหารการศึกษาได้กว้างๆ ว่า เป็นเครื่องมือและวิธีการสำหรับช่วยให้ผู้บริหารการศึกษาสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


ประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีบริหารการศึกษา การใช้เทคโนโลยีบริหารการศึกษาของผู้บริหารการศึกษาระดับต่างๆ นั้นโดยทั่วไปก็เพื่อให้งานต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบสำเร็จลุล่วงด้วยดี ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีบริหารการศึกษามีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  1. ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาเอาไว้เป็นหมวดหมู่ในฐานข้อมูลของหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลบางอย่างอาจจัดเก็บเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้โดยอัตโนมัติ เมื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลแล้วก็สามารถค้นคืนข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน
  2. ช่วยในการประมวลผลข้อมูลที่จัดเก็บไว้เพื่อให้เป็นสารสนเทศรูปแบบต่างๆ เช่น จัดทำเป็นรายงาน ตาราง กราฟ และ แผนภาพต่างๆ ได้แบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้บริหารได้รับทราบรายงานและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
  3. ช่วยในการประเมิน หรืองานประกันคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานจะได้ผลที่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายจริง
  4. ช่วยในการส่งข้อมูลและรายงานที่ประมวลผลได้แล้วไปให้ผู้รับที่อาจจะอยู่ห่างไกลจากหน่วยงาน ทำให้ผู้รับได้รับข้อมูลและรายงานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลนั้นหากผู้รับต้องการนำไปใช้ประมวลผลต่อก็สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องบันทึกข้อมูลใหม่อีกครั้ง
  5. ช่วยในการนำเสนอรายงานหรือข้อเสนอต่างๆ ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างการประชุมสัมมนา
  6. ช่วยในการจัดเก็บความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการปฏิบัติงาน และ การดูงาน เพื่อสร้างเป็นฐานความรู้สำหรับนำมาให้ผู้บริหารระดับล่างได้ศึกษาและนำไปใช้ประกอบการปฏิบัติงาน เช่น ความรู้จากการเปิดสาขาวิชาหรือหลักสูตรใหม่ว่ากำหนดแนวทางไว้อย่างไร การดำเนินงานได้ผลอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ผลของการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร
  7. ช่วยให้ผู้บริหารสามารถทดสอบการตัดสินใจของตนได้โดยอาศัยโปรแกรมสนับสนุนการตัดสินใจ จากนั้นก็อาจเลือกดำเนินงานโดยใช้แนวทางที่เห็นว่าดีที่สุดได้
  8. ช่วยในงานบริหารโดยตรงของผู้บริหาร เช่น การบริหารงานโครงการ การบันทึกตารางนัดหมาย การบันทึกข้อมูลส่วนตัว การจัดทำเอกสารที่ยังไม่ต้องการเปิดเผย การคำนวณหรือการประมวลผลบางอย่าง

        จากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักศึกษาจะเห็นว่าเทคโนโลยีบริหารการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานและการบริหารงานในปัจจุบัน เราอาจสรุปความสำคัญของเทคโนโลยีบริหารการศึกษาได้ดังต่อไปนี้

  1. เทคโนโลยีบริหารการศึกษาทำให้การบริหารจัดการของผู้บริหารการศึกษามีความสะดวกรวดเร็วและมีคุณภาพ
  2. เทคโนโลยีบริหารการศึกษาทำให้การสื่อสารและการประสานงานด้านการบริหารการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาสะดวกรวดเร็ว
  3. เทคโนโลยีบริหารการศึกษาทำให้พัฒนาการด้านการศึกษาของประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและมั่นคง
  4. เทคโนโลยีบริหารการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้สามารถผลิตผู้จบการศึกษาทุกระดับที่มีคุณภาพได้

  5. Home | Back