Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

โรงงานโตโยต้า

ครรชิต มาลัยวงศ์
1 มิถุนายน 2549

        เมื่อพูดถึงรถยนต์โตโยต้า ทุกคนย่อมต้องเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม และมีนวัตกรรมแปลกใหม่มานำเสนอลูกค้าตลอดเวลา อย่างเช่นระบบนำทางด้วย GPS ที่กำลังได้รับความนิยมมากอยู่ในขณะนี้ ความจริงแล้วบริษัทโตโยต้าไม่ได้คิดค้นเฉพาะนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์เท่านั้น แต่ยังได้คิดค้นนวัตกรรมการผลิตที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกหลายเรื่องด้วยครับ ใครสนใจเรื่องนี้คงต้องไปหาหนังสือเกี่ยวกับการผลิตแบบโตโยต้ามาอ่าน เนื่องจาก ดร. วิทยา สุขหฤทดำรง ได้แปลเป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้วครับ

        เมื่อผมมาญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม 2549 กับสถาบันวัฒนธรรมวาเซดะประเทศไทย ได้จัดการขออนุญาตพานักศึกษาเข้าชมโรงงานซึ่งอยู่บนเกาะคิวชูด้วย ทำให้นักศึกษาซึ่งเรียนเรื่องการผลิตแบบโตโยต้ามาแล้วรู้สึกยินดีที่จะได้ไปชมของจริงให้เห็นจะ ๆ

        โรงงานโตโยต้าที่พวกเรามาดูกิจการนี้ความจริงเป็นบริษัทลูกของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น มีชื่อเต็ม ๆ ว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คิวชู โรงงานที่เรามาดูงานนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 113 เฮกแตร์ และเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535

        โรงงานแห่งนี้มีปรัชญาสี่ข้อคือ

  1. จะเป็นพลเมืองดีซึ่งสังคมเชื่อถือ จะยึดมั่นกับการรักษาสิ่งแวดล้อมตามตัวบทกฎหมายและกฎข้อบังคับ
  2. ให้ความสำคัญแก่ลูกค้าเป็นอันดับแรก นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ให้ทั้งความเพลิดเพลินและความบันดาลใจแก่คนทั่วโลก
  3. ใช้เทคนิคการจัดการเชิงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงประโยชน์ร่วมกันระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะเติบโตรุ่งเรืองทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
  4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งให้ความสำคัญต่อคุณค่าของบุคลากร สร้างความเชื่อมั่นและความรับผิดชอบระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร ช่วยให้พนักงานเติบโต อันจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความกระตือรือร้นทีจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศ

        โรงงานโตโยต้านั้นเตรียมต้องรับผู้มาเยี่ยมชมทุกวันอยู่แล้วละครับ แต่ละวันมีคนมาขอชมการผลิตในโรงงานหลายร้อยคน ดังนั้นเขาจึงทำทางเดินสูงสักสามเมตรเศษลอยเข้าไปในโรงงานโดยกะให้ผ่านเข้าไปยังจุดสำคัญ ๆ ที่เขาต้องการให้เราเห็น นอกจากนั้นก่อนออกเดินชมเขาก็แจกหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ให้เรารับฟังเสียงบรรยายแบบไร้สายด้วย ทำให้เราไม่ต้องไปมะรุมมะตุ้มฟังคนนำชมอธิบาย

        จุดแรกที่เราเดินขึ้นไปสู่ทางเดินแบบ Cat walk นั้นเป็นส่วนที่กั้นแบ่งระหว่างพื้นที่โรงงาน กับพื้นที่วางชิ้นส่วน มองไปรอบ ๆ จะเห็นโรงงานที่กว้างขวางใหญ่โตมากครับ ส่วนบริเวณด้านล่างของส่วนนี้ เขาตั้งวัตถุดิบไว้ระเกะระกะ โดยแยกเป็นกลุ่ม ๆ แต่ในความสับสนนั้นก็มีระเบียบอยู่ เพราะพนักงานส่งวัตถุดิบคงจะทราบว่าชิ้นส่วนอะไรอยู่ตรงไหน พนักงานหลายคนง่วนอยู่กับการขับรถบรรทุกชิ้นส่วนโฉบไปมาระหว่างสายการผลิตกับบริเวณที่วางชิ้นส่วนนี้ ผมไม่เห็นเขาใช้ AGV หรือ Automated Guided Vehicle หรืออีกนัยหนึ่งคือรถขนชิ้นส่วนที่แล่นได้โดยอัตโนมัตินะครับ เห็นแต่คนงานหยิบของขึ้นรถแล้วก็เอาไปวางไว้ให้ตามจุดงานต่าง ๆ ของหลายอย่างเขาใส่ในกล่องพลาสติกครับ และระหว่างที่ส่งชิ้นส่วนนั้นเขาก็รับกล่องพลาสติกเปล่ากลับมาด้วย

        การชมโรงงานแห่งนี้ เราไม่ได้เห็นการประกอบรถยนต์ตั้งแต่ต้นจนจบหรอกครับ เพราะเขาให้ดูเป็นส่วน ๆ เท่าที่เขาเห็นว่าจำเป็น เมื่อมองจากทางเดินลงมา เราได้เห็นสายการผลิตมากมายหลายสาย บางสายรถยนต์ก็เลื่อนมาตามสายพาน บางแห่งก็แขวนมาบนรางขนาดใหญ่ซึ่งในหลายจุดก็ลอยเหนือศีรษะของเราไปด้วยซ้ำ

        เราเดินดูคนงานประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้สักระยะหนึ่ง ก็เห็นรถยนต์ที่ประกอบตัวถังทั้งคันเสร็จแล้วเลื่อนเข้ามาในโรงงาน พนักงานประชาสัมพันธ์ที่นำพวกเราชมอธิบายว่า รถยนต์เหล่านี้ประกอบตัวถังมาจากโรงงานอีกแห่งหนึ่ง เมื่อเข้ามาแล้วก็จะถอดประตูทั้งหมดออกเพื่อให้คนงานประกอบชิ้นส่วนอื่น ๆ เข้าไปในตัวรถได้ง่ายขึ้น เมื่อถอดประตูแล้ว ก็มีอุปกรณ์หนีบเอาประตูรถแยกไปอีกทางหนึ่ง ส่วนรถยนต์นั้นก็เลื่อนตามสายการผลิตไปเรื่อย ๆ

        อีกจุดหนึ่งเป็นจุดที่มีการติตตั้งล้อรถยนต์ด้วยหุ่นยนต์ พนักงานอธิบายว่าล้อรถยนต์เหล่านี้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจะขนเข้ามาส่งด้านนอกโรงงาน แล้วจะมีผู้ขนส่งผ่านประตูเข้ามาในโรงงาน ณ จุดที่จะมีการติดล้อรถยนต์พอดี จากทางเดินชมโรงงานนั้น เราไม่เห็นการใช้หุ่นยนต์มากนัก พนักงานอธิบายว่าจะใช้ในงานที่ต้องยกของหนัก ๆ หรืองานที่ต้องใช้แรงมาก ๆ เช่น การติดล้อรถยนต์ เครื่องยนต์ ฯลฯ

        เราสังเกตเห็นอีกว่า รถยนต์ที่เลื่อนไปตามสายพานนั้นมีหลากหลายรุ่นมาก แถมยังมีสีต่าง ๆ กันด้วย ทำให้พวกเราข้องใจว่า เวลาหยิบชิ้นส่วนมาประกอบนั้นช่างเทคนิคไม่งงหรืออย่างไรกัน ต่อมาเมื่อเรากลับเข้าไปซักถามในห้องประชุมจึงได้ทราบว่า การผลิตนั้นเป็นไปตามคำสั่งของบริษัทแม่ และมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะผลิตรถรุ่นใดจำนวนเท่าใดล่วงหน้าหลายเดือน แต่ถ้าเกิดความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงก็สามารถแก้ไขได้ในเวลาไม่นานนัก โดยก่อนการผลิตแต่ละวันคอมพิวเตอร์จะพิมพ์รายละเอียดของแผนการผลิต และการจัดเตรียมชิ้นส่วนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง พนักงานที่ทำหน้าที่จัดเตรียมชิ้นส่วนก็จะต้องนำชิ้นส่วนมาจัดเรียงตามลำดับของการผลิตแล้วส่งไปให้พนักงานแต่ละคน

        ช่างที่ทำงานติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปในตัวรถยนต์นั้นต้องทำงานหนักมากทีเดียวครับ เพราะถึงแม้จะดูเป็นงานง่าย ๆ แต่ช่างต้องทำงานนั้นให้เสร็จทันก่อนที่สายพานจะนำรถยนต์เลื่อนไปสู่ตำแหน่งอื่น ดังนั้นเราจึงเห็นช่างบางคนต้องเดินติดอุปกรณ์ไปกับรถยนต์ที่กำลังเลื่อนอยู่ด้วย แต่ช่างบางคนก็นั่งบนเก้าอี้แบบสบาย ๆ ที่วางอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในระยะเอื้อมถึง โดยเก้าอี้นี้ก็เลื่อนไปกับรถยนต์ด้วย เก้าอี้แบบนี้ช่างของโตโยต้าออกแบบขึ้นใช้เอง

        นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า ช่างที่ทำงานอยู่นี่หากมีปัญหาต้องไปเข้าห้องน้ำจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ช่างจะแจ้งให้แก่หัวหน้างานซึ่งจะส่งสัญญาณไปให้ช่างคนอื่นเข้ามารับงานแทนก่อน เพราะช่างที่นี่เขาหัดให้ทำงานเป็นหลายอย่าง

        ในโรงงานนี้เขาติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ให้เห็นจะ ๆ ด้วย ป้ายนี้แสดงข้อความภาษาญี่ปุ่นและตัวเลขสามแถว สอบถามได้ความว่าแถวหนึ่งเป็นตัวเลขที่บอกสถิติเฉลี่ยที่แต่ละวันผลิตได้ ตัวเลขชุดที่สองบอกตัวเลขที่ทีมงานวันนี้ต้องการผลิตให้ได้ และ ตัวเลขชุดที่สามบอกตัวเลขที่ผลิตได้จนถึงขณะนั้นพร้อมค่าเป็นเปอร์เซ็นต์

        ระหว่างที่เรากำลังเป็นห่วงพนักงานที่ทำงานในแบบที่แทบจะไม่ได้หายใจหายคอเลยนั้น สายพานก็หยุดนิ่งเมื่อเวลา 14.40 น. พนักงานประชาสัมพันธ์อธิบายว่าได้เวลาเปลี่ยนกะแล้ว พนักงานชุดที่เราเห็นอยู่นั้นได้เริ่มงานมาตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาแล้ว ต่อไปพนักงานชุดใหม่จะเข้าทำงานแทน ระหว่างที่หยุดนั้นเราก็เห็นพนักงานชุดใหม่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อออกกำลังกายให้พร้อมที่จะทำงาน เพราะงานนี้หนักเหลือเกิน และยังจะต้องทำไปจนถึงห้าทุ่มด้วย หากไม่อบอุ่นร่างกายหรือออกกำลังกายให้แข็งแรงตลอดเวลาก็คงจะทำงานไม่ไหว ในขณะเดียวกันนั้นเองหัวหน้าทีมกะใหม่ก็ไปคุยกับหัวหน้าทีมกะเช้าเพื่อสอบถามรายละเอียดของการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานต่อเนื่องกันได้

        รถที่ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เสร็จแล้วจะเลื่อนมายังจุดตรวจคุณภาพ ซึ่งรถแต่ละคันมีจุดที่จะต้องตรวจทั้งหมด 1,200 จุด ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาตรวจอะไรกันบ้าง แต่ดูเหมือนว่ามีการทดสอบแปลก ๆ หลายอย่าง มีทั้งการตรวจไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ตรวจพวงมาลัย และมีอุโมงค์ที่สามารถทำให้รถแล่น (เฉพาะล้อหมุน) ด้วยความเร็ว 120 กม. ต่อชั่วโมง

        นักศึกษาถามว่าการผลิตรถแต่ละคันตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลาเท่าใด คำตอบก็คือประมาณ 5 ชั่วโมง แต่เมื่อพิจารณาจากการผลิตแล้ว จะมีรถที่ประกอบเสร็จแล้วไหลออกจากสายการผลิตโดยเฉลี่ย 1 คันทุก ๆ 55 วินาที โดยปีหนึ่ง ๆ สามารถผลิตรถยนต์รวมกันได้ 430,000 คัน

        หลังจากชมโรงงานแล้ว เราก็ไปเข้าห้องประชุมเพื่อฟังคำบรรยายของผู้จัดการโรงงาน เขาเล่าให้ฟังถึงปรัชญาที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว และบอกว่าทางโตโยต้าเน้นด้านการสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์มากในสามด้านคือ

  1. ให้ความสำคัญต่อแนวคิดใหม่ ๆ ของพนักงานในสายการผลิต
  2. แข่งขันและร่วมมือกับบริษัทในเครืออีก 9 บริษัท
  3. ผู้บริหารจะชมพนักงาน และ ติดตามการปฏิบัติงานอยู่เสมอ

        สำหรับแนวคิดหลักของโตโยต้านั้น สรุปว่ามีดังต่อไปนี้คือ

  1. JIT หรือ Just In Time และการสร้างคุณภาพในสายการผลิต
  2. พยายามลด มูดะ หรืองานส่วนเกินที่ไม่เกิดประโยชน์ โดย มูดะที่ต้องกำจัดมี
    • ของเสีย หรือความผิดพลาดที่ต้องแก้ไข
    • การผลิตมากกว่าความจำเป็น เมื่อขายไม่ออกก็กลายเป็นต้นทุน
    • การเปลี่ยนแปลงในสายพานการผลิต
    • การขนส่ง
    • การจัดเก็บชิ้นส่วนมากเกินไปในสต๊อก
    • การปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น
    • การรอคอยชิ้นส่วน หรือรองาน
  3. การนำไคเซ็นเข้ามาใช้เพื่อแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการผลิต ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็เป็นการแก้ปัญหาใหญ่ได้
  4. การใช้หลักการ 2 ส. แรกจาก 5 ส. ทั่วไปคือ สะสาง และ สะดวก เพราะเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด หากทำได้แล้ว 3 ส. ที่เหลือก็ตามมาเอง

        ครับ...นี่ก็เป็นเนื้อหาสาระโดยย่อที่ได้ไปเห็นมาที่ญี่ปุ่นครับ ความจริงแล้วผมเสียดายที่ไม่ได้ไปดูโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าที่กรุงเทพฯ คือเมื่อปีที่แล้วผมจัดหลักสูตรการจัดการการผลิตให้กับผู้บริหารระดับกลาง และพาไปดูโรงงานโตโยต้าด้วย แต่วันที่ไปดูงานนั้นบังเอิญผมติดประชุมสำคัญ ไม่สามารถไปได้ ก็เลยไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าการปฏิบัติงานในโรงงานที่กรุงเทพฯ กับที่ญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกันอย่างไร


Home | Back